แม้จะดูเหมือนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว โคโรนาไวรัส ยังไม่สิ้นฤทธิ์ เพราะ ล่าสุด มีรายงานว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ XBB ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลัง ระบาดในสิงคโปร์ ฮ่องกง และยุโรปหลายประเทศ นอกจากจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่แล้ว ยังมีความสามารถในการระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมด้วย
เฟซบุ๊กของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ BQ.1.1 และ XBB ซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่กลายพันธุ์จากสายพันธุ์เดิมของไวรัสชนิดนี้ ว่า ข้อมูลล่าสุดจาก Gerstung M มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศ เยอรมนี ระบุถึงโคโรนาไวรัส ที่มีรหัสว่า BQ.1.1 และ XBB เป็นสองสายพันธุ์ที่น่าจะกำลังเบียดกันในสนามระบาดระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก โดยสมรรถนะการขยายตัวของการระบาดจากไวรัสสายพันธุ์ BQ.1.1 นั้นเร็วกว่า BA.5 โดยเฉลี่ยราว 12% (พิสัยตั้งแต่ 10% ในเบลเยียม จนถึง 15% ในเยอรมนี) ในขณะที่ XBB นั้นเร็วกว่า BA.5 ถึงกว่า 20% ในสิงคโปร์ (แต่ราว 7% ในเดนมาร์ก และ 13% ในสหรัฐอเมริกา)
...
คุณหมอธีระบอกว่า โดยหลักการแล้ว คาดว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อลักษณะการระบาดในแต่ละประเทศ ไม่ใช่เรื่องสายพันธุ์ของไวรัสเท่านั้น แต่จะเป็นเรื่องภาพรวมของการควบคุมป้องกันโรคของประเทศนั้น ตั้งแต่ระบบเฝ้าระวังว่าเข้มข้นหรือหละหลวม
“การรายงานสถานการณ์จริงให้แก่ประชาชนในสังคมได้ทราบอย่างละเอียดและทันต่อเวลาหรือจะเปิดเท่าที่อยากเปิด เปิดยามที่อยากเปิด Harm and risk perception ของประชาชน อันเป็นผลจากนโยบายและมาตรการของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบว่าเน้นปกป้องและเห็นคุณค่าของสุขภาพและชีวิตคนหรือไม่” คุณหมอธีระบอกและว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความใส่ใจสุขภาพของประชาชนแต่ละคนแต่ละครอบครัวในการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการใช้ชีวิตอย่างมีสติ รอบคอบ ระมัดระวัง และใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ข้อมูลดังกล่าว ดูเหมือนจะสอดคล้องกับข้อมูลในส่วนของนักไวรัสวิทยา อย่าง ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ระบุว่า XBB กับ BQ.1.1 เป็นไวรัส 2 สายพันธุ์ที่มีคนพูดถึงกันเยอะมากตอนนี้ และมีแนวโน้มจะเข้าทดแทน BA.5 ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมในช่วงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง โดย XBB มีการระบาดในภูมิภาคเอเชีย ส่วน BQ.1.1 เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ดร.อนันต์บอกว่า ไวรัส 2 สายพันธุ์นี้มีการเปลี่ยนแปลงบนหนามสไปค์ส่วนใหญ่เหมือนกัน แต่ก็มีบางตำแหน่งที่สร้างความแตกต่างกันได้ โดยตำแหน่งการกลายพันธุ์บน XBB มีมากกว่า BQ.1.1 ที่บางตำแหน่งเชื่อว่ามีผลทำให้แอนติบอดีจากภูมิที่เคยสร้างขึ้นจากวัคซีน หรือติดจากสายพันธุ์อื่นๆในธรรมชาติมาจับได้ไม่ดี ส่งผลให้ XBB หนีภูมิคุ้มกันเข้ามาติดเซลล์ของมนุษย์ได้ดีขึ้น
ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า BQ.1.1 มีตำแหน่ง L452R ซึ่ง XBB ยังไม่มี ตำแหน่งนี้เป็น signature ของไวรัส Delta และ BA.5 ช่วยทำให้ไวรัสจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ได้ดี ได้แน่นขึ้น ดังนั้น ถ้าเทียบเรื่องการหนีภูมิ BQ.1.1 อาจจะด้อยกว่า XBB แต่ถ้ามีโอกาสให้ไปจับกับ ACE2 ได้ ไวรัสตัวนี้มีโอกาสติดเซลล์ได้ดีกว่า XBB
“เป็นที่น่าสังเกตว่าตำแหน่งสำคัญมากๆของสายพันธุ์ Delta อย่าง P681R ที่ทำให้ไวรัสเดลตาโตดีและเกิดการหลอมรวมของเซลล์ได้อย่างมหาศาล ยังไม่เกิดขึ้นในไวรัสตระกูล Omicron ซึ่งไวรัส ทั้ง BQ.1.1 และ XBB เลือกการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พบได้จากตระกูล Alpha ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคำอธิบายแน่ชัดว่า ทำไม P681R ถึงพบได้แต่ใน Delta แต่ไม่เสถียรในสไปค์ของโอมิครอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติเลือกมา” ดร.อนันต์อธิบาย พร้อมกับบอกว่า ตอนนี้ BQ.1.1 อาจเปลี่ยนแปลงตัวเองเพิ่มไปเหมือน XBB หรือ XBB อาจนำ L452R เข้ามาให้ตัวเองติดเซลล์เก่งขึ้นเหมือน BQ.1.1 หรือถ้าไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์มาอยู่ร่วมกันก็อาจเกิดการผสมกันระหว่าง XBB-BQ.1.1 ได้เช่นกัน
...
ผลก็คือ ไวรัสที่ออกมาก็จะมีแนวโน้มเพิ่มความสามารถในการหนีภูมิคุ้มกัน และติดเชื้อได้สูงขึ้นอีก ส่วนความรุนแรงยังเป็นสิ่งที่ประเมินไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนสไปค์ คงต้องดูการตอบสนองจากโฮสต์เป็นตัวประเมิน
ขณะที่นักไวรัสวิทยากำลังจับตาการกลายพันธุ์และความสามารถในการเกาะติดในเซลล์และหนีภูมิคุ้มกันของไวรัสโควิดสายพันธุ์ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (MOH) ของสิงคโปร์ ได้ออกประกาศเตือนประชาชนแล้วว่า โควิดสายพันธุ์ XBB อาจจะระบาดหนัก และอาจมีผู้ติดเชื้อมากถึง 15,000 คนต่อวันในช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้.