หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีอาการปวดบริเวณแก้มก้น ปวดลึกๆ หรือปวดร้าวลงขา หรืออาจจะมีอาการชาบริเวณขาจนถึงเท้า เป็นๆ หายๆ ร่วมด้วย คุณอาจเข้าข่ายการเป็น “โรคสลักเพชรจม” หรือ “ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome)”
“โรคสลักเพชรจม” เกิดจากการที่กล้ามเนื้อ piriformis มีการเกร็งตัวและอาจเบียดทับเส้นประสาทไซอาติก (sciatic nerve) ส่งผลให้มีอาการปวดบริเวณแก้มก้นและสะโพก อาจมีอาการข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มคนทำงาน เนื่องจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน โดยไม่ได้ลุกเปลี่ยนอิริยาบถ ส่งผลให้มีอาการปวด บางรายที่มีอาการมากก็จะมีอาการปวดเรื่อยๆ ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน นอน แต่ส่วนใหญ่จะปวดขณะที่นั่ง
นอกจากนี้บางรายอาจจะมีอาการชาร่วมด้วย เพราะกล้ามเนื้อ piriformis ไปกดทับเส้นประสาท ส่งผลให้มีอาการชาร่วมด้วย และหากกดทับเป็นเวลานานก็อาจจะทำให้มีอาการอ่อนแรงได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าเริ่มมีอาการปวด ทานยาแก้ปวด และยืดเหยียดเองแล้ว อาการไม่ดีขึ้น หรือปวดเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย
...
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสลักเพชรจมจากการซักประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลัก เพื่อจะนำไปสู่การวินิจฉัยแยกโรคว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ ซึ่งโรคสลักเพชรจมอาจจะมีอาการคล้ายกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเสื่อม
โดยหลังจากการวินิจฉัยส่วนมากมักเริ่มรักษาแบบประคับประคอง แต่หากคนไข้อาการยังไม่ดีขึ้น ก็จะมีการพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น
@ การเอกซเรย์ เพื่อดูว่ากระดูกสันหลัง หรือกระดูกสะโพกมีอะไรผิดปกติหรือไม่
@ การส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อวินิจฉัยแยกโรคของหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อม และอาจเห็นกล้ามเนื้อ piriformis มีการหนาตัวและกดทับเส้นประสาทหรือไม่ อย่างไร เพื่อจะได้วางแผนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
“โรคสลักเพชรจม” เป็นโรคที่ไม่ได้มีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต มีลักษณะปวดรำคาญๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่เข้ารับการรักษา ในระยะยาวก็จะส่งผลให้เส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บ จะทำให้มีอาการชา หรืออ่อนแรงตามมาได้
การรักษา แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1. การปรับพฤติกรรม
- โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง เริ่มจากการจัดท่าทางในการทำงานให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (ergonomic posture) อาทิ นั่งหลังตรงชิดพนักเก้าอี้ ตัวสะโพกกับข้อเข่างอประมาณ 90 องศา ฝ่าเท้าแตะแนบพื้นพอดี ระดับความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ทำงานต้องสมดุลกัน ความสูงของจอคอมพิวเตอร์ต้องอยู่ในระดับสายตา เพื่อป้องกันการแหงนและก้มคอที่มากเกินไป
- การเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ควรลุกจากโต๊ะทำงาน เพื่อให้ร่างกายได้เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ได้อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน
- ควรหลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อมีการหดเกร็งตัว รวมถึงมีการบิดของหลัง ทำให้มีอาการปวดทั้งสะโพกและหลังได้ แต่ถ้าใครที่ชอบนั่งไขว่ห้าง อย่างน้อยควรนั่งสลับทั้งซ้ายและขวา เพื่อเป็นการเปลี่ยนท่านั่งด้วยเช่นกัน แต่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยง
2. การรักษาโดยการให้ยารับประทาน และอื่นๆ
โดยการให้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ร่วมกับแนะนำให้คนไข้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกคลายตัว
นอกจากนี้ก็จะมีการรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด การประคบอุ่น การใช้คลื่นเสียงอัลตราซาวนด์ (ultrasound diathermy) เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว การนวดคลายกล้ามเนื้อ การใช้คลื่นกระแทก (extracorporeal shockwave) การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารอบนอก (peripheral magnetic stimulation) เพื่อช่วยลดอาการปวด หรือการฝังเข็มคลายกล้ามเนื้อ (dry needling) เป็นต้น
...
3. การรักษาโดยการให้ยาฉีด และการผ่าตัด
หากรักษาด้วยวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาฉีดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ หากยังไม่ได้ผลอีก ก็จะเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดคลายกล้ามเนื้อบริเวณนั้น
การป้องกัน
เนื่องจาก โรคสลักเพชรจม เป็นหนึ่งในโรคออฟฟิศซินโดรม การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากสามารถจัดท่าทางในการทำงานให้ถูกต้องตามหลัก ergonomic ดังที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึงเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพก โดยการทำท่าสควอช การนอนหงายแล้วยกก้นขึ้นค้างไว้ ทำทุกวัน วันละ 5-10 นาที ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อสะโพก ซึ่งจะช่วยให้ทนต่อความอ่อนล้า ทนต่อการบาดเจ็บได้ดีขึ้น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากการเป็น “โรคสลักเพชรจม” ได้แล้ว
@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
ผศ.ดร.นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล