“โรคกรวยไตอักเสบ” คือ ภาวะที่มีการติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อของไต เป็นโรคที่สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และหากเกิดในเด็กเล็ก อย่างในทารกแรกเกิด ก็มักจะมีโอกาสตรวจพบความผิดปกติของไตและทางเดินปัสสาวะได้บ่อยขึ้น เด็กที่ได้รับการวินิจฉัยโรคนี้ส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้น “โรคกรวยไตอักเสบในเด็ก” จึงเป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จัก

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง แบ่งออกเป็น 3 สาเหตุ ดังนี้

1. การติดเชื้อย้อนขึ้นของเชื้อโรคที่มาจากทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง

ภาวะนี้มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่เด็กมีภาวะปัสสาวะไหลย้อน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ เช่น

กลุ่มที่มีความผิดปกติของท่อไตส่วนปลายที่ต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะ โดยเด็กบางคนมีการต่อของท่อไตส่วนปลายที่สั้นผิดปกติ หรือผิดตำแหน่ง ทำให้ปัสสาวะสามารถไหลย้อนจากกระเพาะปัสสาวะกลับขึ้นมาที่กรวยไตได้ ซึ่งเป็นการนำเอาเชื้อโรคจากกระเพาะปัสสาวะ หรือทางเดินปัสสาวะส่วนล่างย้อนกลับขึ้นมาที่กรวยไต เรียกความผิดปกตินี้ว่าภาวะปัสสาวะไหลย้อนชนิดปฐมภูมิ

การอุดตันท่อปัสสาวะ หรือความผิดปกติของการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ภายในกระเพาะปัสสาวะมีแรงดันมากขึ้น และส่งผลให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับขึ้นไปในกรวยไตได้เช่นกัน เรียกความผิดปกตินี้ว่าภาวะปัสสาวะไหลย้อนชนิดทุติยภูมิ

2. การแพร่กระจายจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

เมื่อเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วเชื้อสามารถกระจายมายังตัวไตด้วย ซึ่งสาเหตุนี้พบในเด็กได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ไตมีโครงสร้างผิดปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อยู่ในกระแสเลือด หรือมีความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันจากโรคต่างๆ เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นด้วย

...

3. การติดเชื้อจากบาดแผล หรือสายสวนที่เข้าสู่ไตโดยตรง

สาเหตุนี้ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ป่วยที่มีการวางสายระบายปัสสาวะที่กรวยไตออกมาที่ผิวหนัง เช่น ผู้ป่วยที่มีการอุดตันของกรวยไตและที่ท่อไต ซึ่งถ้าไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ในครั้งเดียว ศัลยแพทย์จะต้องมีการวางสายเพื่อระบายปัสสาวะออกมาก่อน โดยการเจาะเข้าไปที่กรวยไต และหากดูแลรักษาสายระบายปัสสาวะได้ไม่ดี ก็จะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่สายระบายปัสสาวะ และเข้าสู่กรวยไตได้ หรืออาจจะเกิดจากอุบัติเหตุ มีการแทงทะลุ ทำให้เชื้อโรคผ่านตามชั้นผิวหนังที่มีบาดแผลและเข้าสู่กรวยไตได้ ซึ่งกรณีนี้พบได้น้อย

อาการ

ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการไข้สูงเป็นหลัก อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วยได้ อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ในเด็กโต คือ อาการปวดบริเวณบั้นเอว ถ้ามีการเคาะที่บริเวณบั้นเอวข้างที่มีกรวยไตอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากได้ นอกจากนี้บางรายอาจจะมีปัสสาวะขุ่น เป็นตะกอน หรือมีเลือดปนร่วมด้วยได้

การวินิจฉัย

จากอาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แพทย์จะส่งตรวจปัสสาวะ และนำไปเพาะเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไปตรวจพบว่ามีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะมากขึ้น ร่วมกับตรวจพบเชื้อที่เป็นสาเหตุ ทั้งนี้ในเด็กที่ยังไม่สามารถควบคุม หรือบอกการปัสสาวะได้ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี การเก็บปัสสาวะเพื่อเพาะเชื้อมีความจำเป็นต้องใช้วิธีการใส่สายสวนท่อปัสสาวะเพื่อลดการปนเปื้อนจากการเก็บปัสสาวะโดยการแปะถุง นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลัน และการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมได้ ดังนั้นจึงควรเจาะเลือดประเมินการทำงานของไต และส่งเพาะเชื้อในเลือดด้วย

การรักษา

เนื่องจากโรคกรวยไตอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ การรักษาหลักจึงเป็นการให้ยาต้านจุลชีพ ช่วงแรกของการรักษานิยมให้เป็นยาฉีดทางหลอดเลือดดำก่อน โดยเฉพาะในรายที่อาการรุนแรง กินไม่ค่อยได้ หรือเป็นเด็กเล็กซึ่งกินยาได้ยาก และเมื่อทราบผลทดสอบการตอบสนองของยาต้านจุลชีพต่างๆ ต่อเชื้อก่อโรค จึงทำการปรับใช้ยาในรูปแบบกินแทน โดยมีระยะเวลาของการให้ยาต้านจุลชีพนาน 7-14 วัน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าคนไข้แต่ละรายตอบสนองต่อการรักษาได้ดีหรือไม่ ในกรณีที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาต้านจุลชีพได้ดี โดยไข้หายไปภายใน 24-48 ชั่วโมง ร่วมกับเชื้อก่อโรคเป็นเชื้อทั่วไปที่ไม่ได้มีภาวะดื้อต่อยาต้านจุลชีพ การได้รับยาต้านจุลชีพเพียง 7 วัน ก็อาจเพียงพอต่อการรักษา แต่ถ้าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรคแล้วค่อนข้างช้า ระยะเวลาให้ยาต้านจุลชีพก็ควรให้นานขึ้นเป็น 10-14 วัน นอกจากนี้ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดฝีที่ไต เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพนานขึ้นอีก โดยอาจต้องให้ยาอย่างน้อย 21 วัน หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาโดยพิจารณาจากการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อติดตามขนาดของฝีที่ไตหลังการรักษา

นอกจากการให้ยาต้านจุลชีพแล้ว แพทย์จะหาสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกรวยไตอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดปกติเชิงโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะของเด็ก เช่น ภาวะปัสสาวะไหลย้อน ความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ ความผิดปกติของท่อปัสสาวะ เป็นต้น ดังนั้นจะมีการส่งตรวจทางรังสีวิทยา คือ การทำอัลตราซาวนด์ของไตและทางเดินปัสสาวะ เพื่อตรวจหาความผิดปกติในเบื้องต้น และกรณีที่ตรวจพบว่ามีการโป่งพองของตัวกรวยไต หรือตัวท่อไตเกิดขึ้น ก็จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าจะต้องส่งตรวจทางรังสีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยความผิดปกติของท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และภาวะปัสสาวะไหลย้อน เรียกการตรวจทางรังสีนี้ว่า voiding cystourethrography (VCUG) ในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะที่รุนแรงจะมีการส่งปรึกษาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะร่วมประเมินการดูแลรักษาต่อไป

...

นอกจากนี้ต้องตรวจหาความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งเพิ่มโอกาสเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และต้องให้การรักษาร่วมด้วย โดยปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็ก ได้แก่

● ภาวะท้องผูก ที่อาจส่งผลให้การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะทำได้ไม่เต็มที่ และทำให้มีปริมาณปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมากกว่าปกติ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ และนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะปัสสาวะไหลย้อนอยู่แล้ว

● ปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศไม่เปิดในเด็กผู้ชาย (phimosis) และภาวะแคมยึดติดในเด็กผู้หญิง (labial adhesion)

การป้องกัน

● สอนไม่ให้เด็กกลั้นปัสสาวะในเด็กที่เริ่มสามารถควบคุมการปัสสาวะได้แล้ว โดยการฝึกการนั่งกระโถนควรเริ่มหลังเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป และเด็กทั่วไปสามารถควบคุมการขับถ่ายช่วงกลางวันได้เมื่ออายุ 3 ปี

● แนะนำการรักษาสุขลักษณะหลังการขับถ่ายให้มีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม

● ป้องกันภาวะท้องผูก เพื่อไม่ให้เกิดปัสสาวะค้างในกระเพาะ โดยควรให้เด็กรับประทานผักและผลไม้อย่างเหมาะสม ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ และพิจารณาการใช้ยาระบายในรายที่มีอาการท้องผูกรุนแรง

● รักษาภาวะแคมยึดติดในเด็กผู้หญิงทุกรายที่ตรวจพบภาวะดังกล่าว ในกรณีภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดในเด็กผู้ชายนั้น ถ้าเด็กรายนั้นเคยมีประวัติการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมาแล้วควรทำการรักษาภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดทุกราย แต่กรณีที่เด็กยังไม่เคยมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมาก่อนนั้น ภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดสามารถพบได้ทั่วไปในเด็กเล็ก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ส่วนมากจะมีการเปิดของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศได้เองเมื่อโตขึ้น โดยไม่เกิดการติดเชื้อใดๆ ดังนั้นเด็กผู้ชายเหล่านี้จึงไม่จำเป็นต้องทำการรักษาภาวะหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดทุกราย แต่ถ้าผู้ปกครองมีความประสงค์ที่จะให้ทำการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ก็สามารถพิจารณาทำเพิ่มเติมได้

...

● ผู้ป่วยที่มีปัสสาวะไหลย้อนที่รุนแรง ควรพิจารณาให้ยาต้านจุลชีพเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อในระยะยาวด้วย

แม้ว่าโรคกรวยไตอักเสบในเด็ก จะเป็นโรคที่ไม่ได้มีความอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่หากเกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดพังผืดที่ไต ซึ่งทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังตามมาในอนาคตได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคกรวยไตอักเสบที่มีภาวะการติดเชื้อซ้ำจำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินหาปัจจัยเสี่ยง และติดตามความผิดปกติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะไตเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาว

-----------------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล
ผศ. นพ.ทรงเกียรติ ฉันทวิโรจน์ สาขาวิชาโรคไต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล