ตามความเป็นจริง หมอเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง แต่เป็นหมอยา อายุรแพทย์ และหมอสมอง ซึ่งได้รับการอบรมทางภูมิคุ้มกันทางสมอง และการติดเชื้อทางสมองโดยเฉพาะ และมาเจอบทความนี้ ที่โยงต่อติดสมองและภูมิแปรปรวน
เมื่อไหร่ที่มีคนคัน ต้องเกาเรื้อรัง มีผื่น (atopic dermatitis) คำแนะนำ ที่ให้ดูจะเป็นลูกสูตรที่พวกเราทุกคนก็ทำกัน ยกตัวอย่างเช่น คอยสังเกตว่าไปเจออะไรเข้าและเกิดแพ้ รวมทั้งฝุ่นไรฝุ่นละอองเกสร แพทย์สัตว์เลี้ยง อย่าใช้สบู่โดยเฉพาะที่ผสมตัวยาที่ฆ่าแบคทีเรียเพราะจะทำให้ผิวแห้งมากถ้าเกิดการระคายเคือง คอยสังเกตอาการ และถ้าอาการไม่มากนักก็แนะนำให้ไปซื้อยาสเตียรอยด์ทาผิว ยาแก้แพ้ ที่มีดาษดื่น
แต่ถ้ารุนแรงเรื้อรัง ก็แนะนำให้พบคุณหมอผิวหนังหรือภูมิแพ้ผิวหนังโดยเฉพาะ
ที่มาปวดหัวกับเรื่องคันคะเยอผื่น ก็ในยุคโควิดนี่เอง ที่หลังจากการติดเชื้อสงบไปแล้ว กลับต่อ ตามติดมาด้วยผื่นตุ่ม เป็นเฉพาะที่หรือทั่วร่างกาย และที่สำคัญก็คือ มีผื่นปนแถมคันคะเยอ ทั้งนี้ ไม่นับรวมกับอาการอื่น ทั้งผมร่วง ปวดข้อ ปัญหาการนอน ที่เหมือนนอนนานแปดถึงเก้าชั่วโมง แต่กลางวันยังเหนื่อยล้า ต้องนอนพัก และเมื่อจับคุณภาพของการนอน ปรากฏว่าแทบไม่มีการหลับลึกเลยโดยที่ในคนปกติต้องการประมาณ 75 นาที
...
กลับมาถึงเรื่องคันคะเยอและผื่นผิวหนัง ก็เป็นความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกัน และถ้าอาการมากและรุนแรงถึงกับต้องให้ยาพิเศษ ซึ่งเป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี IgG4 ที่จำเพาะกับ IL-4R alpha ที่เป็นตัวรับของ IL-13 และหน่วงการออกฤทธิ์ของ IL-13 และ IL-4 และเลยไปถึงการสร้าง IgE แต่สนนราคาก็จะดุเดือดพอสมควรหลาย 10,000 บาทต่อเข็ม
และยาที่ใช้กันบ่อยพอสมควร คือ montelu kast ซึ่งใช้ในผู้ป่วยหอบหืด หลอดลมตีบ แต่เมื่อนำมาใช้ในผื่นคันคะเยอ กลับได้ผลจำกัดหรือไม่ได้ผลเลย งานสำคัญที่อธิบายกลไกการเกิดปรากฏการณ์คันคะเยอ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะสั้นหรือยืดยาวเรื้อรัง เป็นรายงานในวารสาร Proceeding National Academy of Science (PNAS) ปี 2021 โดยคณะทำงานจาก Brigham and Women’s Hospital และ Harvard Medical School และ Massachusetts General Hospital ทั้งนี้ ดร. Chui ซึ่งก็เป็นผู้วิจัยและศึกษาทางระบบภูมิคุ้มกันทางระบบประสาทมาตลอด
โดย Chui และคณะพบว่า ตัวการที่กำเนิดคันคะเยอ อยู่ที่ปมประสาทความรู้สึกที่เราเรียกว่า dorsal root ganglia (DRG) ทั้งนี้ อาการคัน ถ้าเกิดขึ้นเฉียบพลันและไม่เรื้อรัง แท้จริงแล้วเป็นประโยชน์ในการป้องกันตัวจากสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย แต่เมื่อใดที่กลายเป็นเรื้อรัง จะกลายเป็นเรื่องทรมานสำหรับชีวิตคนผู้นั้น
Leukotrienes (LTs) เป็น eicosanoid lipid mediators ที่หลั่งออกมาเมื่อมีการกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เม็ดเลือดขาว mast cell eosinophils basophils และ macrophages และเซลล์อื่นๆรวมทั้ง platelet–neutrophil aggregates และ tuft cells ทั้งนี้ LTs ประกอบไปด้วย LTB4 และ cysteinyl LTs (CysLTs ; LTC4 LTD4 LTE4)
ผลของการศึกษา เป็นการพิสูจน์การเชื่อมโยงสื่อสาร หรือที่เราชอบเรียกกันก็คือ พูดคุยกันระหว่างระบบ (cross talk) ของประสาท และภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ LTC4 จะส่งไปยังปมประสาท ที่มีตัวรับ CysLT2R เป็นจำนวนมาก และกระตุ้นให้มีการคันคะเยอเกิดขึ้น โดยที่ตัวรับอื่นๆไม่เกี่ยวข้องกันทั้ง cysltr1 Trpv1 โดยที่การศึกษานี้ตัดกลไกของผิวหนังแห้งว่า ไม่สามารถอธิบายอาการคันคะเยอเรื้อรังนี้
และยังอธิบายว่าเหตุผลที่ montelukast บรรเทาและรักษาอาการคันได้ไม่ดีนัก เพราะว่าไปจับคนละเป้าหมายคือที่ CysLT1R ไม่ใช่ CysLT2R แม้ว่าการศึกษานี้จะทำในหนูก็ตาม แต่สามารถชำแหละกลไกได้อย่างหมดจด และมีความเป็นไปได้อย่างสูงในการใช้ยาที่มีฤทธิ์เฉพาะเจาะจงในการยับยั้งการเปลี่ยน arachidonic acid ซึ่งเป็นตัวต้นกำเนิดที่จะเกิด LTR4 เช่น 5-LO inhibitor zileuton เป็นต้น
...
รายงานต่อๆมาใน Frontiers in Neural Circuits ปี 2022 ได้ประสานกลไกการเกิดคัน ซึ่งจะส่งความรู้สึกดังกล่าวไปยังสมอง และกำหนดให้มีการเกา ทั้งนี้ โดยผ่านระบบในไขสันหลัง จนถึงสมองบริเวณจำเพาะทั้งหมด ตกอยู่ใน Spino-Parabrachial pathway และยังมีรายงานการคันที่เกิดจากตัวแมลงเกาะไต่ที่ผิวหนัง (mechanical itch stimulus) ทั้งนี้ โดยผ่านทางตัวรับ PIEZO1 mechano-sensor รายงานในวารสาร Nature 2022
จะเห็นได้ว่า คันคะเยอจนถึงเกา แคะ แกะ ต่างก็มีกลไกที่สลับซับซ้อน และแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนทั่วไป แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่เป็น และสะท้อนให้เห็นถึงระบบภูมิคุ้มกันที่แปรปรวน
ส่งผลไปถึงตัวรับสัญญาณและกำหนดให้มีความรู้สึกคัน ผ่านไปจนถึงสมองและนำมาสู่การเกา (แต่จะเป็นยิ่งคัน ยิ่งเกา ยิ่งเกา ยิ่งมัน หรือเปล่าในที่สุด?) และหวังว่าในอนาคตคงจะมียาที่ราคาไม่โหดร้ายสำหรับใครก็ตามที่เป็นโรคนี้นะครับ.
หมอดื้อ