ประโยชน์ของการเดินหลังรับประทานอาหาร ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ไม่เสี่ยงเป็นเบาหวาน คือข้อดีที่สุด นอกจากที่รู้กันมานาน ว่าการเดินช่วยระบบการย่อย ส่วนเวลาของการเดินนั้นแค่ 2-5 นาที ก็ดีต่อสุขภาพ หรือถ้านานประมาณ 15 นาทีก็ยิ่งดีต่อสุขภาพ
นี่คือผลวิจัย ที่เว็บไซต์ nytimes นำมารายงานสรุป โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมระหว่าง การนั่ง กับการยืน หรือเดินหลังรับประทานอาหาร ที่มีผลต่อหัวใจ และระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งค้นพบประโยชน์ของการเดินหลังกินข้าว สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ไม่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) ที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือที่รู้จักกันดีว่าภาวะการดื้ออินซูลิน ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นเบาหวานประเภทนี้
ไม่เฉพาะการเดิน แต่การยืน ก็ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย แม้จะไม่มากเท่าการเดิน เพราะการเดินคือการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมไปถึงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ และถ้าเดินภายใน 60-90 นาที หลังรับประทานอาหาร ก็จะยิ่งได้ผลดี
นอกจากนี้ข้อดีของการเดิน แม้แต่ช่วงสั้นๆ ระหว่างการทำงาน หากทำได้ก็ควรจะทำ เช่น แค่เดินไปชงกาแฟ สำหรับคนที่ทำงานที่บ้าน ก็มีคำแนะนำว่าให้ลุกขึ้นมาเดินบ้าง แม้ว่าอยู่ระหว่างการประชุมออนไลน์ หรือหลังอาหารกลางวัน การเดินบ่อยๆ ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้
สำหรับการเดินแต่ละนาทีมีผลต่อร่างกายอย่างไรนั้น มีข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้สรุปไว้ว่า การเดินนาทีที่ 1 ถึง 5 นั้น 2-3 ก้าวแรก จะกระตุ้นการปล่อยสารเคมีที่สร้างพลังงานภายในเซลล์เพื่อเป็นเชื้อให้กับการเดิน ที่ร่างกายจะเริ่มดึงเอาคาร์โบไฮเดรตและไขมันที่สะสมอยู่ออกมาใช้ โดยชีพจรจะเร่งขึ้นเป็น 70-100 ครั้งต่อนาที กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและให้ความอบอุ่นแก่กล้ามเนื้อ ไขข้อที่ฝืดและตึงจะคลายตัวลง เพราะข้อต่อจะปลดปล่อยของเหลวหล่อลื่นออกมา เพื่อให้การเคลื่อนไหวทำได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณเคลื่อนที่ไป ร่างกายจะเผาผลาญพลังงาน 5 แคลอรีต่อนาที เทียบกับเมื่อคุณพักจะเผาผลาญแค่ 1 แคลอรีต่อนาที
...
แน่นอนว่า ถ้าเดินนานขึ้น ช่วงนาทีที่ 6 ถึง 10 ชีพจรก็เต้นเร็วขึ้น ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 6 แคลอรีต่อนาที จากนั้นนาทีที่ 11-20 อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้น เผาผลาญมากขึ้นไปจนถึง 7 แคลอรีต่อนาที และนาทีที่ 21-45 ไขมันถูกเผาผลาญมากขึ้น และดีสำหรับคนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคเบาหวาน