จากกรณีที่มีงานวิจัยพบว่ามีสัตวแพทย์ชาวไทยติดเชื้อโควิด-19 จากแมวที่มีเจ้าของป่วยเป็นโควิด ซึ่งเป็นเคสแรกของโลกที่พบว่าคนสามารถติดเชื้อโควิดจากแมวได้ ทำให้ทาสแมวหลายคนเกิดความสนใจ ซึ่งนอกจากโรคโควิดแล้ว “น้องแมว” ยังสามารถนำพาโรคติดต่ออื่นๆ มาสู่คนได้อีกเช่นกัน

โรคติดต่อจากแมวสู่คน มีอะไรบ้าง

1. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

แมวก็สามารถแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำได้เช่นเดียวกับสุนัข โดยเกิดจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ติดต่อมาสู่คนจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย บริเวณที่มีแผลรอยข่วน หากได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้ว และไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 15-60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี ที่สำคัญคือยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเสียชีวิตทุกราย โดยอาการโรคพิษสุนัขบ้ามีดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • มีไข้ต่ำ
  • เจ็บคอ
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย
  • คันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด
  • มีอาการกลืนลำบากเพราะกล้ามเนื้อที่ลำคอและกล่องเสียงหดเกร็งตัว
  • มีอาการกลัวน้ำ
  • น้ำลายฟูมปาก บ้วนน้ำลายบ่อย
  • กระวนกระวาย ตื่นเต้น
  • หงุดหงิด
  • หายใจเร็ว
  • ประสาทสัมผัสไวต่อการกระตุ้น ทำให้ตกใจง่ายและสะดุ้งผวาเมื่อถูกลม หรือได้ยินเสียงดัง
  • กล้ามเนื้อแขนขาเกร็ง กระตุก
  • ระยะหลังจะเป็นอัมพาตหมดสติและเสียชีวิตภายใน 2-7 วัน นับจากเริ่มแสดงอาการ

วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดและสามารถป้องกันได้ 100% ก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุดเมื่อโดนแมวกัดหรือข่วนและต้องฉีดให้ครบกำหนดทุกเข็ม ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันคนไม่ให้ติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ แต่ก็ควรพาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าด้วย สังเกตอาการและระวังแมวไม่ให้สัมผัสกับสัตว์อื่นที่อาจมีเชื้อพิษสุนัขบ้า และไม่ควรเข้าใกล้หรือยั่วยุแมวจรจัดเพราะอาจถูกกัดหรือข่วนและทำให้ติดเชื้อได้

...

2. โรคแมวข่วน (Cat scratch disease)

เกิดเป็นทาสแมวหากไม่มีรอยแมวข่วนนับว่ายังไม่ใช่ทาสตัวจริง แต่เมื่อโดนเจ้านายข่วนก็ต้องระวัง “โรคแมวข่วน” ด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่ติดต่อสู่คนได้จากการถูกแมวกัดหรือข่วน แมวที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการป่วยแต่จะเป็นตัวแพร่โรคสู่คนได้ สำหรับทาสที่โดนข่วนหรือกัดจะมีอาการต่อไปนี้

  • มีผื่นแดง ตุ่มพอง
  • แผลหลุมที่บริเวณบาดแผล
  • ต่อมน้ำเหลืองโต

โรคนี้สามารถหายเองได้ ภายใน 4-8 สัปดาห์ แต่คนที่มีร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อโรคนี้แล้ว ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่ตา ระบบประสาท แต่ข้อดีคือโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน

วิธีป้องกันโรคแมวข่วน คือควรเลี้ยงแมวในระบบปิด เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากหมัดแมวที่มีเชื้อโรคนี้มากัดแมวของเราทำให้กลายเป็นพาหะมาสู่เรานั่นเอง นอกจากนี้ยังไม่ควรเล่นกับแมวแรงๆ โดยเฉพาะกับลูกแมวเพราะอาจจะทำให้ถูกแมวข่วนหรือกัดได้ เมื่อถูกกัดหรือข่วนควรล้างแผลและฟอกสบู่ให้สะอาดทันที อย่าให้แมวเลียแผล และควรควบคุมหมัดในแมวเพื่อลดโอกาสติดเชื้อในแมว

3. โรคติดเชื้อจากแผล

เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากของแมว รวมทั้งแบคทีเรียที่พบอยู่บนผิวหนังของคน ที่ปนเปื้อนบนเขี้ยวแมว แล้วเข้าสู่บาดแผลที่ถูกแมวกัด อาการที่พบคือ

  • ปวด บวม แดง บริเวณที่ถูกกัด
  • อาจมีหนองไหลออกจากรูเขี้ยว

นอกจากนี้ หากติดเชื้อ “แบคทีเรียกินเนื้อคน” จะทำให้เส้นเลือดอุดตัน จนเกิดอาการปวดแผลอย่างรุนแรง พร้อมกับมีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลามอย่างรวดเร็วในแผล และอาจติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาล แพทย์จะให้พักรักษาในโรงพยาบาล และรีบผ่าตัดเอาเนื้อตายสีดำออกจากแผล และฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือด

วิธีป้องกันโรคติดเชื้อจากแผลคือ เมื่อถูกแมวกัดควรรีบทำความสะอาดแผลด้วยสบู่ น้ำสะอาด และยาล้างแผล เปลี่ยนผ้าปิดแผลบ่อยๆ และรีบเปลี่ยนผ้าใหม่ทันที หากผ้าพันแผลเดิมเปียกหรือสกปรก ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเวลาทำแผล และปิดแผลป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกเข้าสู่บาดแผล พยายามให้แผลแห้งอยู่เสมอ ไม่ให้แผลเปียกน้ำ โดยเฉพาะเวลาอาบน้ำ

4. โรคบาดทะยัก

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่เราจะได้รับก็เมื่อโดนแมวกัดหรือข่วน ซึ่งจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ 2-3 วันแรกและอาจกินเวลาหลายสัปดาห์ อาการที่พบคือ

  • มีภาวะกรามติด
  • กล้ามเนื้อคอแข็ง
  • มีปัญหาการกลืน
  • กล้ามเนื้อท้องแข็ง
  • เหงื่อออก
  • มีความดันโลหิตสูง

วิธีป้องกันโรคบาดทะยักคือควรรีบทำสะอาดบาดแผลและฆ่าเชื้อโรคทันทีที่ถูกแมวกัดหรือข่วน รวมทั้งควรฉีดวัคซีนบาดทะยักให้ครบกำหนดทุกเข็ม และควรฉีดซ้ำทุก 10 ปี เพื่อกระตุ้นภูมิ

5. โรคผิวหนังจากเชื้อราแมว

เชื้อราแมว มีหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยคือเชื้อ Microsporum canis จะอาศัยอยู่ตามผิวหนังของสัตว์ สามารถติดต่อกันจากแมวสู่แมว และยังสามารถติดต่อจากแมวสู่คนได้จากการสัมผัสโดยตรง ทำให้ทาสแมวทั้งหลายที่ชอบเข้าไป กอด อุ้ม หรือเล่นกับแมว เป็นโรคผิวหนังจากเชื้อราแมวได้ และต้องใช้เวลารักษาค่อนข้างนาน เพราะสามารถกลับมาเป็นซ้ำ และเพิ่มรอยดำจากแผลเป็นมากขึ้นอีก อาการที่พบคือ

...

  • มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายทั้งวงเล็กและวงใหญ่
  • มีขุยขึ้นตามบริเวณรอบๆ ผื่นแดง
  • มีอาการคันตามผื่นแดง
  • อาจเกิดผื่นแดงเพิ่มขึ้นเมื่อเกาที่บริเวณผื่นแดงและไปสัมผัสจุดอื่นๆ บนร่างกาย
  • หากมีการติดเชื้อที่หนังศีรษะอาจพบเส้นผมในบริเวณที่ติดเชื้อร่วงเป็นหย่อม

วิธีป้องกันโรคผิวหนังจากเชื้อราแมวคือ ล้างมือและอวัยวะต่างๆ ที่สัมผัสกับแมวให้สะอาด ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ ที่มีการสัมผัสกับแมว อาบน้ำแมวโดยใช้แชมพูที่ป้องกันเชื้อรา และเป่าขนให้แห้ง ควรพาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อราเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสและใกล้ชิดแมว ตลอดเวลา เช่น การนำแมวไปนอนบนเตียงด้วย เป็นต้น หากพบว่าแมว และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มีความผิดปกติ ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์

จะเห็นได้ว่าโรคติดต่อจากแมวสู่คนมีหลายโรคที่เกิดจากการข่วนและกัดของแมว ซึ่งผู้ที่เป็นทาสแมวต่างรู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก ทางที่ดีที่สุดคือควรรีบล้างแผลและทำความสะอาดฆ่าเชื้อ นอกจากนี้คือควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักให้ครบกำหนด

...

ส่วนเคสแมวติดโควิดจากเจ้าของแล้วแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นนั้น รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เลี้ยงแมว หรือสุนัข ควรเลี่ยงการสัมผัสและใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงประมาณ 7-8 วัน เพราะสัตว์เลี้ยงเมื่อได้รับเชื้อโควิดแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ และเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่น้อยกว่าคนราว 5 วัน และหายไปเองได้

นอกจากนี้การที่สัตว์เลี้ยงจะแพร่เชื้อไปสู่คนนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากหรือน้อยมากเช่นเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่จะมาจากการไอ จาม น้ำมูก และอุจจาระ ซึ่งน้อยมากที่คนจะได้สัมผัส และเมื่อสัมผัสส่วนใหญ่ก็ล้างทำความสะอาดกันในทันทีอยู่แล้วด้วย