เรื่องการนอนหลับเป็นเรื่องมหัศจรรย์พิศวงและเป็นเรื่องที่น่ารู้ น่าติดตามมาตลอด และในวงการของการทำสมาธิ เข้าฌานก็จะมีเรื่องความรู้เกี่ยวกับสภาวะของการเคลิ้มและรอยต่อคาบเกี่ยวระหว่างการตื่นเต็มที่และการที่จะเข้าระยะเริ่มจะหลับหรือหลับตื้นๆ ที่เป็นขั้นตอนที่หนึ่งของการหลับโดยไม่มีการเคลื่อนไหวของลูกตาที่เรียกย่อๆว่า N1 ของ nonrapid eye movement
ก่อนอื่นหมอต้องออกตัวก่อนนะครับว่า ถึงแม้ว่าเป็นหมอทางสมอง รับทราบเรื่องของคลื่นสมองในระยะต่างๆบ้างพอสมควร เรื่องของคลื่นสมองชัก คลื่นที่บอกความผิดปกติของเนื้อสมอง แต่ไม่ได้ลึกซึ้งลงถึงในระดับที่เกี่ยวกับการเข้าฌานหรือสมาธิ ทั้งนี้ เนื่องจากการฝึกทำสมาธิเมื่อนานมาแล้ว ไม่ได้มีพี่เลี้ยงหรือคนฝึก
ดังนั้น จึงเห็นอะไรวูบวาบและติดจะน่าตกใจ เลยไม่ได้ทำต่อ และความสนใจที่ผ่านมาอยู่ที่สภาพการนอนหลับลึกที่จะช่วยให้ระบบระบายของเสียหรือขยะออกจากสมอง ผ่านทางระบบที่เรียกว่า glymphatic system และขณะที่หลับลึก ท่อระบายขยะเหล่านี้จะใหญ่ขึ้น 60%
ดังจะเห็นได้ว่า คนที่มีสมองเสื่อมบางครั้งหลับไปสองวันตื่นขึ้นมาแจ่มใสอย่างประหลาด พูดจาจะเริ่มรู้เรื่อง และไม่ยอมหลับไปอีกสองวัน น่าจะอธิบายได้จากการที่ของเสียหรือขยะเหล่านี้ถูกระบายออกจึงทำให้แจ่มใสขึ้น
...
เรื่องการนอนหลับ จะหลับหรือนอนน้อยไป มากไป ก็ดูจะไม่เป็นผลดี และนอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับยีนหรือรหัสพันธุกรรมที่มีส่วนกำหนดให้บางครอบครัวสามารถนอนนิดเดียวสามถึง 4 ชั่วโมงตื่นขึ้นมา ก็กระฉับกระเฉงได้เลย (กรุณาอ่านบทความที่เกี่ยวกับการนอนหลับ โดยหมอดื้อ สุขภาพหรรษา ไทยรัฐ)
กลับมาเรื่องถึงระยะเคลิ้ม ซึ่งเป็นเรื่องฮือฮาและเป็นบทความตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science Advances ฉบับวันที่ 8 ธันวาคมปี 2021 ในเรื่อง Sleep Onset a creative sweet spot หรือนั่นก็คือช่วงระยะหลับตอนแรก ใช่เลยเป๊ะเลย ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญ ของการเกิดความคิดสร้างสรรค์และนำมาสู่การแก้ปัญหายากๆ ที่ประสบหรือที่กำลังคิดพัฒนาอยู่ และจากบทความนี้ ถูกนำไปขยายใน Scientific American ฉบับเดือนเมษายนปี 2022 โดยดึงประเด็นถึงการงีบหลับ เฉกเช่นอัจฉริยะทั้งหลาย
ทั้งนี้ บุคคลอัจฉริยะที่ทุกคนคงทราบหรือเคยได้ยินมาบ้างก็คือ คุณโธมัส เอดิสัน ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น และได้เคยให้สัมภาษณ์ใน Scientific American ในปี 1889 ว่า ตนเองเป็นคนนอนน้อยมาก คืนละไม่เคยเกิน 4 ชั่วโมง และประกาศทั่วไปว่า ตนเองนั้นคิดว่าการนอนนั้นเป็นเรื่องเสียเวลา
เรื่องนี้เลยกลายเป็นประเด็นให้ตามต่อ โดยผู้วิจัยจากสถาบัน Paris Brain Institute โดยนักวิทยาศาสตร์ความรู้คิดทางสมอง (cognitive neuroscience) คุณ Delphine Oudiette และคณะได้ทำการศึกษาวิจัยโดยใช้รูปแบบตามอัจฉริยะโธมัส เอดิสัน ที่ถือลูกบอลไว้ในมือและเมื่อเคลิ้มหลับลูกก็จะตกลงไปในถาดโลหะและจะทำให้ปลุกสะดุ้งตื่นขึ้นมาทันทีทันใด จากภาวะสนธยาที่เป็นรอยต่อระหว่างการตื่นกับการหลับตื้นขั้นแรก และในช่วงนี้ก็อาจจะหรือมักจะมีเสียงหรือรูปหรือฉากที่คล้ายกับเป็นความฝัน และในช่วงนี้เองที่เป็นช่วงสำคัญในการบังเกิดปัญญา และนำไปสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ รูปแบบ แบบแผนใหม่ที่ค้างคาอยู่ในใจหรือที่วางแผนแต่ไม่สำเร็จ จนถึงต้องร้อง “ยูเรก้า” (eureka) ค้นพบแล้ว สำเร็จแล้ว
การวิจัยนี้มีผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 103 คน โดยให้รับทราบตัวเลขที่เป็นชุด 8 ตัว ประกอบไปด้วยเลข 1 4 และ 9 จากนั้นจะได้คำสั่งให้หาวิธีการที่ได้คำตอบให้เร็วที่สุด โดยมีกฎสองข้อ ตามต่อกันมาโดยการรายงานตัวเลขซ้ำเดิม ถ้าตัวเลขก่อนหน้าและที่จะปรากฏตามมาตรงกัน และในกฎข้อที่สองให้บอกตัวเลขตัวที่สาม ถ้าตัวเลขก่อนหน้าและที่ตามมาต่างกัน ชุดตัวเลขคือ 9 9 1 1 4 1 4 1
การทดสอบจะให้ทำสองบล็อก (บล็อกละ 30 การทดลอง) พัก 20 นาที และทำต่ออีกเก้าบล็อก
ในการทดสอบนี้มีการตรวจคลื่นสมอง จับระยะเวลาที่เริ่มเข้าสู่การนอนหลับถึงแดนสนธยา (hypnagogic period) ระยะที่ทำขวดน้ำเบาๆหลุดมือและสะดุ้งตื่น และมีเครื่องมือที่จับการเคลื่อนไหวของลูกตา (Electrooculo graphic record) และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ (Electromyographic record) จากนั้นจะเปรียบเทียบผลที่ได้ในการแก้ปัญหาที่ตั้งไว้ ระหว่างกลุ่มที่มีการเคลิ้มหลับแล้วสะดุ้งตื่น (N1 group) กับกลุ่มขณะที่อยู่ในสภาพตื่นตัวเต็มที่ (wake group) และกลุ่มที่มีการหลับที่เข้าระยะที่สองไปแล้ว (N2 group) รายละเอียดปลีกย่อยซับซ้อนสามารถอ่านได้จากเอกสารตัวจริง
...
ผลของการทดสอบ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยในกลุ่มที่มีการเคลิ้มหลับแล้วสะดุ้งตื่นที่อยู่ในกลุ่ม N1 สามารถที่จะแก้ปัญหากลอุบายดังกล่าวที่ซ่อนอยู่ในชุดตัวเลข โดยเก่งกว่ากลุ่มที่ตื่นตลอดเวลาถึง 2.7 เท่า และเก่งกว่ากลุ่มที่หลับเข้าไปในระยะที่สองแล้วถึง 5.8 เท่า
การวิเคราะห์คลื่นสมอง พบว่าคลื่นสมองในระยะสนธยามีสูตรผสมกันระหว่างคลื่นอัลฟา ซึ่งเป็นคลื่นของความผ่อนคลายสมาธิมี ระเบียบปนอยู่กับคลื่นเดลตา ซึ่งเป็นคลื่นของการหลับลึก
กระบวนการค้นพบนี้เป็นการศึกษาที่ทำตามอัจฉริยะโทมัส เอดิสัน ได้ทำไว้และได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น แม้จะไม่ตรงกับที่หวังทั้งหมดก็ตาม แต่เป็นบันไดที่จะเพิ่มพูนประสิทธิภาพของสมองในด้านอัจฉริยภาพการแก้ปัญหา การค้นพบสิ่งใหม่ และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น โดยคณะผู้วิจัยขณะนี้ได้วางแผนไว้ว่า อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถรับทราบได้ว่า ขณะใดอยู่ในสภาวะสนธยาระหว่างตื่นกับการหลับในระยะที่หนึ่ง และมีการกระตุ้นให้ตื่นขึ้นในขณะนั้น
ตัวหมอเองนั้น แม้ว่าจะนอนไม่มากก็ตาม บางคืนสามหรือ 4 ชั่วโมงครึ่ง แต่คงเป็นโชคดี ที่นอนหลับได้สนิทหรือที่เรียกว่าหลับลึกที่ต้องการ คืนละประมาณ 75 นาทีหรือ 90 นาทีก็พอ และคิดว่าอีกไม่นานคงได้นอนยาวแล้ว ประสบการณ์ของการเคลิ้มและสะดุ้งตื่นมีหลายครั้งหลายคราและเห็นภาพลอยมาเป็นตัวเลขชัดเจน สามตัวสีดำบนพื้นขาว ทำการจดทันที และไปซื้อลอตเตอรี่หรือหวย ตามอยู่สามงวดถูกกินเรียบร้อย
ดังนั้น สำหรับหมอเองคงไม่ค่อยรุ่งนัก คงต้องลองพยายามใหม่ครับ คราวนี้ไม่หวังตัวเลขแล้วกัน.
หมอดื้อ