สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในการออกกำลังกายทั้งหลาย “รองเท้า” นับเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของผู้ออกกำลังกาย เพราะจะทำให้สามารถทำกิจกรรมนั้นๆ ได้อย่างสะดวก สบาย ที่สำคัญคือช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ และรักษาสุขภาพเท้าของเราอีกด้วย ดังนั้น การเลือกรองเท้าให้เหมาะกับการออกกำลังกาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มือใหม่ที่เพิ่งหันมาออกกำลังกายอย่างจริงจัง ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ซึ่งวันนี้เราก็มีเรื่องราวน่ารู้ของเรื่องนี้มาฝากกัน
ชนิดของรองเท้าสำหรับออกกำลังกาย แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. Running Shoes คือ รองเท้าที่ใช้วิ่งและใช้ใส่ในฟิตเนส ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 4 ประเภท คือ
1.1 Cushioned Running Shoes คือ รองเท้าที่เน้นการกระจายแรงลงสู่พื้นและการลดแรงสะท้อนกลับมาสู่บริเวณข้อเท้า ใส่แล้วสามารถกระจายน้ำหนักการวิ่งลงไปสู่พื้นได้ดี ดูดซับแรงสะท้อนกลับมาสู่ข้อเท้า ช่วยป้องกันการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า เหมาะสำหรับผู้ที่มีรูปเท้าปกติ และลักษณะการวิ่งปกติที่ลงน้ำหนักที่กลางเท้า เป็นรองเท้าที่สามารถใช้ได้ในทุกพื้นผิวสนาม เช่น ปูน ยางมะตอย ไม้ เป็นต้น สามารถใช้วิ่งประจำวัน เดินหรือใส่เที่ยวปกติได้ รองเท้าประเภทนี้ลดอาการเมื่อยล้า ลดอาการบาดเจ็บ และสามารถวิ่งหรือเดินได้นานขึ้นเนื่องจากลักษณะพื้นมีความนุ่ม เด้ง ไม่แข็งกระด้าง
...
1.2 Motion Control Running Shoes คือ รองเท้าที่ลดแรงกระแทกมาสู่ข้อเท้าและชะลอการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเท้า เนื่องจากมีความหนาของส่วนพื้น มีส่วนยึดข้อเท้า Heel lock เสริมหรือบังคับให้เท้าลงน้ำหนักให้ตรง ไม่ให้ฝ่าเท้าบิดเข้าด้านนอกหรือด้านใน รวมไปถึง Arch support เสริมความเว้าโค้งของข้อเท้าเพื่อยกอุ้งเท้า รองเท้าประเภทนี้จะมีน้ำหนักค่อนข้างหนัก แต่จะทำให้วิ่งได้มั่นคง มีความทนทาน ความนุ่มและเด้งอาจจะน้อย เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเท้าแบน และผู้ที่มีปัญหาเท้าล้ม Over pronation
1.3 Lightweight Running Shoes คือ รองเท้าที่มีน้ำหนักเบา มีความมั่นคง ความนุ่มและเด้งน้อย เนื่องจากมีน้ำหนักเบา พื้นรองเท้ามักจะบาง โดยส่วนใหญ่รองเท้าประเภทนี้ออกแบบมาให้ดันตัวไปด้านหน้าตลอดเวลา ดูได้จากรองเท้าจะหัวเชิด พื้นรองเท้าจะมีส้นรองเท้าจะสูงกว่าส่วนอื่น เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการวิ่งทำความเร็ว วิ่งมาราธอน
1.4 Stability Running Shoes คือ รองเท้าที่เน้นการกระจายแรง ดูดซับแรงกระแทก ลดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเท้า มีส่วนแกนพื้นรองเท้ากันการพลิกของเท้า มี Arch support ส่วนเสริมอุ้งเท้าให้มั่นคงและแข็งแรง มี Heel lock ส่วนเสริมความมั่นคงของส้นเท้าด้านหลัง มีความนุ่มและเด้งของพื้น กล่าวคือเป็นรองเท้าที่รวมทั้ง Cushioned ในส่วนพื้น และ Motion control ในส่วนบน รองเท้าประเภทนี้เหมาะสำหรับคนที่มีรูปเท้าปกติ แต่ต้องการความมั่นคงในการวิ่ง
2. Court Shoes เป็นรองเท้าที่ใช้ออกกำลังกายในคอร์ต เช่น แบดมินตัน เทนนิส บาสเกตบอล ซึ่งรองเท้าจะออกแบบเพื่อให้มีการรองรับการเคลื่อนไหวของเท้าในทิศทางต่างๆ ส่วนพื้นรองเท้ามักจะมีส่วนเว้าส่วนโค้งโดยรอบ เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวทั้งในทิศทางต่างๆ เช่น ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพื้นรองเท้าจะสามารถยึดเกาะได้ดี สามารถหยุดกะทันหัน รองเท้าชนิดนี้ไม่ค่อยจะดูดซับแรงกระแทก จะเน้นความเบาและการเคลื่อนที่เป็นหลัก
3. Field Shoes คือ รองเท้าเฉพาะกีฬา ซึ่งใส่เฉพาะการเล่นกีฬาแต่ละประเภท เช่น รองเท้าเตะฟุตบอล รองเท้าวิ่งตะปู รองเท้ากอล์ฟ รองเท้าวิ่งเทล เป็นต้น โดยจะออกแบบมาเพื่อให้รองรับกับกิจกรรมที่ทำ ยึดเกาะพื้นแต่ละประเภท เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเล่นกีฬา
ส่วนประกอบของรองเท้า
• Upper คือ วัสดุชั้นนอกสุดของรองเท้า ส่งผลต่อน้ำหนัก การระบายอากาศ ความยืดหยุ่น และความสามารถในการกันน้ำ เช่น ผ้า ผ้ายืดหยุ่น หนังแท้ หนังสังเคราะห์ พลาสติกสังเคราะห์กันน้ำ เป็นต้น
• Outsole เป็นส่วนของพื้นรองเท้าด้านล่างที่สัมผัสกับพื้น ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นยางที่มีความทนทาน ยึดเกาะพื้นแต่ละประเภทได้ดี
• Insole เป็นส่วนแผ่นพื้นรองเท้าด้านในที่สัมผัสกับเท้า บางรุ่นสามารถถอดได้ บางรุ่นไม่สามารถถอดได้ ซึ่งแต่ละรุ่นอาจมีคุณสมบัติต่างกัน เช่น มี Air ในแผ่นรอง มี Arch support ยกอุ้งเท้า หรือมีเทคโนโลยีกำจัดกลิ่น
...
• Midsole เป็นส่วนของรองเท้าที่อยู่ระหว่าง Outsole และ Insole เป็นส่วนที่จะช่วยควบคุมการทรงตัว ลดแรงกระแทก และป้องกันการบาดเจ็บต่างๆ จากการวิ่ง ซึ่งส่วนนี้มีหลายชนิด และมีคุณสมบัติต่างกัน เช่น พื้นโฟม React Boost Zoom พื้น Air พื้น Gel เป็นต้น
คำแนะนำในการเลือกรองเท้า
1. ต้องถามตัวเองก่อนว่าจะซื้อรองเท้ามาเพื่อออกกำลังกายประเภทไหน เช่น วิ่ง ฟิตเนส วิ่งเทรล ตีแบด ตีกอล์ฟ เป็นต้น ต้องเลือกรองเท้าให้ถูกประเภทของการออกกำลังกายก่อนอันดับแรก เพราะถ้าเลือกใส่รองเท้าผิดประเภท ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บระหว่างการออกกำลังกายได้
2. เลือกรองเท้าโดยดูจากความยาวของเท้า โดยวัดเป็นเซนติเมตร เนื่องจากขนาดของรองเท้าแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นจะไม่เท่ากัน เวลาบอกความยาวเท้าให้บอกเป็นเซนติเมตร โดยวัดจากปลายนิ้วโป้งจนถึงส้นเท้า
3. ส่วนความกว้างวัด ก็วัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของเท้า
4. ลองใส่เดินแล้วรู้สึกสบาย ไม่คับ หรือหลวมจนเกินไป โดยปกติแล้วถ้าเลือกรองเท้าวิ่งที่ Upper ทำจากผ้าที่มีการขยายตัว ควรเลือกขนาดให้พอดีเท้า แต่ถ้าเป็นพลาสติกสังเคราะห์ หรือหนังสังเคราะห์ ควรเลือกเผื่ออีก 1 ไซส์
5. คนที่เท้าแบน แนะนำให้ใช้รองเท้าที่มีการรองรับข้อเท้า ตัวรองเท้าจะต้องมีตัวรองรับอุ้งเท้าขึ้น เพื่อลดการเจ็บฝ่าเท้า และทำให้ข้อเท้าพลิกได้ยาก ซึ่งแผ่นรองรับอุ้งเท้านี้ รองเท้าบางรุ่นก็ทำมาเลย หรือสามารถซื้อเฉพาะแผ่นรองรับอุ้งเท้ามาใส่เสริมในรองเท้าก็ได้
เมื่อได้รองเท้าคู่ใจในการออกกำลังกายแล้ว ก็ไปออกกำลังกายกันเลย เพื่อสุขภาพที่ดีของเราในอนาคต
@@@@@@
แหล่งข้อมูล
นายรังสิมา พรโสภิณ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ศูนย์กีฬารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
...