“โรคซึมเศร้า” มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นความอ่อนแอทางจิตใจ หรือเป็นเรื่องของอารมณ์ที่เกิดจากความรู้สึกผิดหวัง สูญเสีย ปัจจุบันนี้พบผู้ป่วยเป็นโรค แต่ทราบหรือไม่ว่าที่จริงแล้ว “โรคซึมเศร้า” คือ อาการป่วยทางร่างกายอย่างหนึ่ง ไม่ใช่โรคของคนอ่อนแอ แต่เป็นเรื่องความสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และดูแลอย่างถูกต้อง เหมาะสมจากคนรอบตัว

ทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วยซึมเศร้า เป็นอย่างไร

อาการของโรคซึมเศร้า เป็นเรื่องของอารมณ์ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้ อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ หงุดหงิดง่าย น้อยใจง่าย เสียใจง่าย หรือวิตกกังวลง่ายขึ้น มีความเบื่อหน่าย หมดความสนใจกับกิจกรรมที่ชอบทำเป็นประจำ ไม่อยากทำกิจกรรมอะไร ไม่อยากออกไปไหน ในบางรายมีการแยกตัวอยู่คนเดียว รู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง สมาธิลดลง ความจำต่างๆ สั้นลง อาจมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานได้ และมักจะมีความคิดด้านลบบ่อยขึ้นทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น จนทำให้มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไปจนถึงมีปัญหาเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง ในบางรายอาจทานได้เยอะขึ้นกว่าปกติ มีปัญหาการนอน หลับยาก ตื่นเช้ากว่าเดิม หรือหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืน รู้สึกตนเองไร้ค่า สิ้นหวัง อยากทำร้ายตนเอง คิดถึงความตายบ่อยๆ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอยู่นานติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์

...

สังเกตอาการ สัญญาณที่บ่งบอกว่าคนใกล้ชิดคุณกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน บางรายมีพฤติกรรมที่แสดงออกทางอารมณ์ที่ชัดเจน สามารถรับรู้และสื่อสารปัญหาของตัวเองได้ อาจจะมีเรื่องราวความเครียด กังวล ไม่สบายใจมาเล่าให้ฟังบ่อย แต่บางรายการรับรู้ ยอมรับปัญหา และการแสดงทางอารมณ์ไม่ชัดเจน จะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การแยกตัวมากขึ้น ไม่ค่อยอยากทำกิจกรรมอะไร ชวนไปไหนก็ไม่อยากไป เวลาพูดคุยกันคำพูดบางคำอาจจะกระทบจิตใจได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การทะเลาะกัน รวมถึงพฤติกรรมการกิน การนอน ที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้เราสามารถสังเกตได้ง่ายขึ้น

ระดับอาการของผู้ป่วยซึมเศร้า จุดไหนที่อันตราย ต้องพบแพทย์

อาการของผู้ป่วยซึมเศร้า อาจเริ่มจากมีปัญหาความเครียด วิตกกังวล จนส่งผลให้เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไต่ระดับไปถึงจุดรุนแรงที่สุด คือการคิดทำร้ายตัวเอง ความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ และอยากจะฆ่าตัวตาย ดังนั้นแพทย์แนะนำว่า หากเริ่มผิดสังเกตว่าคนใกล้ชิดคุณมีอาการเข้าสู่ภาวะโรคซึมเศร้า ควรจะพามาพบแพทย์ตั้งแต่ต้น เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ ช่วยป้องกัน ไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น

ดูแลอย่างไร เมื่อคนใกล้ชิดป่วยเป็นซึมเศร้า

โดยส่วนใหญ่แล้วการมาพบจิตแพทย์ จิตแพทย์จะประเมินรายบุคคลในการให้คำปรึกษา และแนะนำวิธีดูแลผู้ป่วยกับญาติเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะคนรอบข้างมีผลต่อการรักษาเช่นกัน ถ้าคนรอบข้างไม่เข้าใจจะเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ คำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลคนใกล้ชิดที่ป่วยเป็นซึมเศร้า ได้แก่

1. ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเบื้องต้น ว่าสาเหตุมาจากการเสียความสมดุลของสารเคมีในสมอง เป็นอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยควบคุมตัวเองได้ยาก
2. ควรสังเกตอาการของผู้ป่วย แนะนำให้ไปพบแพทย์ หรือทีมสหวิชาชีพที่ดูแลปัญหาสุขภาพจิตใจ
3. เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน แสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่าผู้ดูแลพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างกัน
4. หากมีการพูดคุยกันแล้วผู้ป่วยมีอาการหงุดหงิด ไม่พอใจ ควรพักการสนทนา ให้เวลาผู้ป่วยได้พักผ่อนจนอาการดีขึ้นก่อน ค่อยมาพูดคุยใหม่ เพราะอาจเกิดการทะเลาะวิวาทได้
5. กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ไม่หมกมุ่นอยู่กับตนเอง หรือปัญหามากเกินไป
6. ช่วยดูแลเรื่องยา ให้ผู้ป่วยกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ หากพบปัญหาผลข้างเคียงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง ไม่ควรให้ผู้ป่วยหยุดยาเอง กระตุ้นผู้ป่วยให้มาตามนัดเป็นประจำ
7. หากผู้ป่วยเริ่มมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง มีความคิดอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ให้รีบติดต่อขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนในการรับมือกับผู้ป่วย

หากผู้ป่วยซึมเศร้า ต้องพบกับเหตุการณ์สะเทือนใจ จะเตรียมรับมืออย่างไร

เมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือมีการสูญเสียขึ้นในชีวิต ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความเครียด ความวิตกกังวลได้ในทุกคน ผู้ป่วยซึมเศร้าก็เช่นกัน แต่ความคิด มุมมองต่อปัญหา การรับมือต่อปัญหาในแต่ละคนจะแตกต่างกัน ขึ้นกับประสบการณ์และความรุนแรงของโรคในขณะนั้น
การรับมือในเบื้องต้น ผู้ดูแลควรรับฟังผู้ป่วยโดยไม่ตัดสิน อาจไม่จำเป็นต้องให้คำแนะนำ หรือหาวิธีการแก้ปัญหาให้ การเป็นผู้ฟังที่ดีจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกได้ว่าเราเข้าใจเขา และอยู่ข้างๆ เสมอ นอกจากจะช่วยรับฟังแล้วก็ยังสามารถกระตุ้นพาผู้ป่วยไปทำกิจกรรมที่เคยชอบได้ ในช่วงที่เกิดอาการผู้ป่วยจะไม่อยากออกไปไหน เพราะอยู่ในอารมณ์เบื่อหน่าย ผู้ดูแลใกล้ชิดควรหาวิธีกระตุ้น รบเร้าให้ผู้ป่วยไปทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วยให้ออกมาจากความคิดที่กำลังหมกมุ่นอยู่ เช่น ดำน้ำ ชอปปิ้ง ออกกำลังกาย ให้เวลาผู้ป่วยในการปรับตัว หากอาการยังไม่ดีขึ้น กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ มีพฤติกรรมที่แยกตัวมากขึ้น ส่งผลกระทบกับการทำงานของผู้ป่วย ควรพาไปปรึกษาแพทย์

วิธีจัดการอารมณ์ และความรู้สึกของผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า

ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า (Caregiver) ถือเป็นคนที่มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นผู้ใกล้ชิด มีโอกาสรับฟังปัญหา และอาจได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้ป่วย ผู้ดูแลอาจเกิดความรู้สึกเหนื่อย เบื่อหน่าย ท้อแท้ รับมือกับผู้ป่วยยาก และสะสมเป็นความเครียดได้ ดังนั้น ผู้ดูแลควรมีวิธีดูแลสุขภาพใจตนเองเบื้องต้น

1. รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง สังเกตอารมณ์ตนเองว่าในช่วงนี้เรารู้สึกเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า ควรวางแผนในการดูแลร่วมกันกับครอบครัว หรือคนสนิทรอบตัวผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ใครคนใดคนนึงเหนื่อยมากจนเกินไป มีการผลัดเปลี่ยนช่วยกันดูแล และถอยออกมา มีเวลาทำงาน มีเวลาส่วนตัวบ้าง เพื่อให้มีช่วงเวลาผ่อนคลายจากความตึงเครียด

...

2. เข้าใจธรรมชาติของโรค ลดความคาดหวังในตัวผู้ป่วย และการรักษา การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้ยา หรือทำจิตบำบัด ใช้เวลาอย่างน้อย 3-6 เดือนถึงจะเริ่มดีขึ้น แต่บางรายอาจจะมากกว่านั้นแตกต่างกัน ขึ้นกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย

3. หากเกิดความเครียด วิตกกังวล โทษตัวเองมากขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์ หรือทีมสหวิชาชีพที่ดูแลด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินอาการ และรับคำแนะนำเบื้องต้น

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะใช้เวลารักษาอย่างน้อย 6 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย มีโอกาสหาย และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีการรับรู้การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมของตนเองได้ดีขึ้น นอกจากตัวผู้ป่วย แผนการรักษา คนใกล้ชิดที่ดูแลผู้ป่วยก็มีส่วนสำคัญในการรักษา เพราะการที่จะต้องอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา ถ้ามีความรู้ ความเข้าใจในโรคซึมเศร้า จะทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ เพราะโรคซึมเศร้าไม่ใช่อาการของคนอ่อนแอ แต่เป็นเรื่องของสมดุลสารเคมีในสมอง ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

บทความโดย : พญ.อรไพลิน รัตนปิ่นศิริ จิตแพทย์ เฉพาะทางจิตเวชผู้ใหญ่ ศูนย์ Let's Talk โรงพยาบาล เปาโล พหลโยธิน