โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งโรคประจำถิ่นของไทยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่กำลังจะถึงนี้ แม้ว่าคำว่า “โรคประจำถิ่น” จะฟังดูเบากว่า “โรคระบาด” แต่ก็ยังคงนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะอาการและความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตก็ยังมีรายงานอยู่เสมอ วันนี้ไทยรัฐออนไลน์พาทุกท่านมารู้จักกับคำว่า “โรคประจำถิ่น” ไปพร้อมๆ กัน

โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึงอะไร

โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่อยู่ในประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตรียมพร้อมรับมือ โดยเป็นวาระต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ

ในแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 ซึ่งจัดทำในปี พ.ศ.2559 ได้มองเห็นอนาคตเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่สำคัญทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งงบประมาณด้านการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคระบาดต่างๆ รวมอยู่ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

โรคโควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ ก็ต่อเมื่อ

1. เชื้อลดความรุนแรง วัดจากอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด
2. ประชาชนมีภูมิคุ้มกันดีขึ้นจากการฉีดวัคซีน หรือภูมิที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อมาก่อนแล้ว
3. การดูแลจัดการสาธารณสุขที่ควบคุมและชะลอการระบาดได้

โรคประจำถิ่น กับ โรคระบาด ต่างกันอย่างไร

...

ข้อมูลจากนิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คอลัมน์ Vocab With Rama ได้ให้คำจำกัดความของโรคประจำถิ่นไว้ว่า โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้นๆ กล่าวคือมีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่นั้นอาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างทวีป ยกตัวอย่างโรคประจำถิ่นในไทย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก

ศัพท์ตามหลักระบาดวิทยาได้แบ่งการระบาดออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

1. โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ การระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้
2. การระบาด (Outbreak) คือ การระบาดที่เป็นโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว แต่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นผิดปกติ เช่น การระบาดของเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในปี พ.ศ.2562
3. โรคระบาด (Epidemic) คือ การระบาดที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อจำนวนเกินคาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่เกิดการระบาดในทวีปแอฟริกาข้ามไปยังทวีปอื่นๆ พ.ศ.2557-2559
4. การระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) คือ การระบาดที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ ลุกลามไปทั่วโลก เช่น ไข้หวัดสเปน พ.ศ.2461 และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พ.ศ.2553 รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันด้วย

โรคประจำถิ่นไทย มีอะไรบ้าง

โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก ได้ถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่นตามนิยามทางระบาดวิทยา หลังจากที่พบว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ในช่วงปี พ.ศ.2500 และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามนิยามของกฎหมาย แม้ว่าเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่หากเข้ารับการประเมินการรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยก็มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นโรคประจำถิ่นที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ พบว่าเป็นเชื้อไวรัสที่มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ตระกูลนก พบการระบาดครั้งใหญ่ที่เกาะฮ่องกง พ.ศ.2540 ทำให้ไก่ที่ติดเชื้อรุนแรงตายจำนวนมาก คนที่ติดเชื้อมาจากอุจจาระไก่เกิดเป็นการระบาดต่อเนื่องในคน

โรคเอดส์

โรคเอดส์ เป็นโรคติดเชื้อไวรัส HIV ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง โรคนี้พบเป็นโรคอุบัติใหม่ในปี พ.ศ.2527 และเมื่อกลายเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง ก็กลายเป็นโรคประจำถิ่นเช่นกัน

สรุปแล้วแม้ว่าใกล้การประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อนี้จะหายไปจากสังคมเรา และการจะควบคุมให้โควิด-19 ไม่รุนแรงในระดับประชากรได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ยังคงต้องเว้นระยะห่าง และรักษามาตรการสาธารณสุข รวมถึงเข้ารับวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของการติดเชื้อ จึงจะจำกัดโควิด-19 ไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้างขึ้นได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

...

ที่มา :

1. โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=13

2. แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2560 - 2564 https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2/eidnationplan60_64.pdf

3. Pandemic Endemic Epidemic และ Outbreak ระบาดยังไง? ต่างกันยังไงนะ? Volume: ฉบับที่ 38 เดือนตุลาคม 2563 Column: Vocab With Rama Writer Name: นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง
https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue038/vocab-rama