จากกรณีที่ภรรยาของหม่ำ จ๊กมก ดาราตลกชื่อดัง ถูกนำตัวส่งเข้าโรงพยาบาลเป็นการด่วนเนื่องจากภาวะเลือดเป็นกรด จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าภาวะเลือดเป็นกรดคืออะไร สาเหตุมาจากไหน เกิดกับใครได้บ้าง และรักษาได้หรือไม่ เรารวมคำตอบมาให้แล้ว

เลือดเป็นกรดคืออะไร

เลือดเป็นกรด คือ ภาวะความผิดปกติของเลือดหรือของเหลวในร่างกายไม่สมดุล ทำให้มีความเป็นกรดสูง ในทางการแพทย์จะยึดเกณฑ์ค่าพีเอช (pH) ของเลือดที่วัดได้ต่ำกว่า 7.35 ลงมาถึงจะจัดว่าร่างกายมีภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งอาจเกิดได้จากสภาวะหรือโรคต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากปอดและไตทำหน้าที่ขับกรดส่วนเกินหนักเกินไปจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ทั้งนี้ค่าพีเอชเลือดของคนปกติจะอยู่ในช่วง 7.35-7.45 ส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นการทำงานของปอด และการควบคุมความสมดุลของเกลือแร่และภาวะกรดด่างในร่างกายจากการทำงานของไต

ภาวะเลือดเป็นกรดที่เกิดจากปอดจะเรียกว่า ภาวะกรดจากระบบหายใจ แต่ถ้าเกิดจากการทำงานไตจะเรียกว่า ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ

อาการเลือดเป็นกรดเป็นอย่างไร

สำหรับอาการของภาวะเลือดเป็นกรดที่เกิดจากระบบหายใจ (ปอด) และกระบวนการเผาผลาญ (ไต) จะมีอาการต่างกันเล็กน้อย ดังต่อไปนี้

ภาวะกรดจากระบบหายใจ

  • อ่อนเพลีย เซื่องซึม
  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • รู้สึกสับสน
  • ปวดศีรษะ
  • บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดอาการไม่รู้ตัว หรือเสียชีวิต

ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ

  • หายใจตื้นและถี่
  • รู้สึกสับสน
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • อาเจียน เบื่ออาหาร
  • อาการดีซ่าน
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  • ในกรณีที่เกิดจากโรคเบาหวาน ลมหายใจอาจมีกลิ่นคล้ายผลไม้

...

สาเหตุของเลือดเป็นกรด

สาเหตุของภาวะเลือดเป็นกรดมาจากการที่ร่างกายมีกรดสะสมอยู่ในปริมาณมากหรือสูญเสียความเป็นด่างไป รวมถึงมีโรคหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับปอด ไต ระบบการเผาผลาญ หรือระบบการหายใจ ซึ่งสาเหตุการเกิดแบ่งออกได้ดังนี้

1. ภาวะกรดจากระบบหายใจ

เกิดขึ้นเมื่อปอดไม่สามารถขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางการหายใจได้เพียงพอ จึงเกิดการสะสมของก๊าซภายในร่างกายเป็นจำนวนมากจนทำให้เลือดมีความเป็นกรดมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • โรคทางเดินหายอุดกั้นใจเรื้อรัง
  • การบาดเจ็บบริเวณหน้าอก
  • ภาวะหรือโรคอ้วนซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก
  • การใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทอย่างไม่เหมาะสม ทำให้การหายใจลดลง
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปริมาณที่พอดี
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท
  • โครงสร้างของหน้าอกผิดรูปร่าง เช่น หลังค่อม
  • กล้ามเนื้อหน้าอกที่เกี่ยวข้องกับการหายใจไม่แข็งแรง

2. ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ

เกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถขับกรดออกไปได้หรือไตมีภาวะเป็นด่างมากเกินไป ภาวะเลือดเป็นกรดจากกระบวนการเผาผลาญแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่

  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะร่างกายขาดอินซูลินและมีการสร้างกรดคีโตนขึ้นในร่างกายจนทำให้เกิดเลือดเป็นกรด เพราะไม่สามารถควบคุมความสมดุลได้
  • ภาวะเลือดเป็นกรดร่วมกับคลอไรด์ในเลือดสูง เกิดจากการสูญเสียโซเดียมไบคาร์บอเนต ที่ทำให้เลือดมีค่าเป็นกลาง ภาวะกรดในเลือดชนิดนี้ทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียน
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีกรดแลคติกมากเกินไป มีสาเหตุจากพิษสุราเรื้อรัง ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็ง ลมชัก ตับวาย การขาดออกซิเจนเป็นเวลานานและน้ำตาลในเลือดต่ำ นอกจากนี้การออกกำลังกายเป็นเวลานานทำให้เกิดภาวะกรดแลคติกในเลือดเกินได้เช่นกัน
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากหลอดไตฝอย เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถขับกรดออกทางปัสสาวะได้ จึงเป็นสาเหตุทำให้เลือดเป็นกรด

วิธีการรักษาภาวะเลือดเป็นกรด

ภาวะเลือดเป็นกรดสามารถรักษาได้เมื่อทราบสาเหตุที่เกิดอย่างแท้จริง โดยเน้นให้ค่าความเป็นกรดด่างหรือค่าพีเอชกลับมาอยู่ในภาวะปกติ วิธีการรักษาจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุ ประเภท และระดับความรุนแรงของภาวะนี้เป็นหลัก

ภาวะกรดจากระบบหายใจ

แพทย์จะรักษาโดยพยายามช่วยให้ปอดกลับมาทำงานได้ตามปกติและแก้ไขสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด อาจให้ยาขยายทางเดินหายใจ ให้ออกซิเจน หรือใช้เครื่องช่วยหายใจแก่ผู้ป่วยที่มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ

จะมีวิธีรักษาแตกต่างออกไปตามสาเหตุของโรคหรือภาวะความผิดปกตินั้นๆ เช่น

  • ภาวะเลือดเป็นกรดร่วมกับคลอไรด์ในเลือดสูง และภาวะเลือดเป็นกรดจากไตล้มเหลว ผู้ป่วยอาจจะต้องรับประทานยาโซเดียมไบคาร์บอเนต
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากการคั่งของสารคีโตซีสในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยอาจได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดหรืออินซูลิน เพื่อช่วยปรับสมดุลความเป็นกรดด่างในเลือด
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง แพทย์อาจให้รับประทานโซเดียมไบคาร์บอเนต ให้น้ำเกลือ ออกซิเจน หรือสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ ขึ้นอยู่กับสาเหตุหลัก

วิธีลดความเสี่ยงภาวะเลือดเป็นกรด

สำหรับวิธีป้องกันภาวะเลือดเป็นกรดนั้นตอนนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้เต็มประสิทธิภาพ แต่มีวิธีลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

ภาวะกรดจากระบบหายใจ

  • การรับประทานยาระงับประสาทหรือยานอนหลับ ควรใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและห้ามใช้ควบคู่กับแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะทำลายปอดและเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ตามมา รวมทั้งหายใจได้ลำบากขึ้น
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคอ้วนและปัญหาในการหายใจได้ลำบาก

...

ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ และติดตามการรักษาสม่ำเสมอซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการคั่งของสารคีโตนในเลือด
  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่พอดีต่อวัน เพราะการดื่มอย่างหนักจะเพิ่มการสะสมของกรดแลคติกที่มากขึ้นในเลือดและทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
  • ควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือข้อบ่งใช้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด

ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไต โรคทางเดินหายใจ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ง่าย วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือหมั่นสังเกตอาการตนเองและปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดในอนาคต.

อ้างอิงข้อมูล: สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)