จากข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของนักแสดงหนุ่ม "บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์" ที่จากไปในวัยเพียง 25 ปี เนื่องจากนอนหลับแล้วไม่ตื่น หรือที่เรียกกันว่า "ภาวะใหลตาย" ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสุขภาพใกล้ตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะภัยเงียบที่เกิดจากการนอนที่มีสภาวะผิดปกติ เช่น หยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) นอนกรนเสียงดังผิดปกติ ฯลฯ ซึ่งในทางการแพทย์มีการตรวจการนอนหลับ ที่เรียกว่า "Sleep Test" ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้เพื่อตรวจสุขภาพการนอน ก่อนที่ภัยเงียบจะมาเยือน

ทำความรู้จัก "Sleep Test" คืออะไร?

Sleep Test คือ การตรวจสุขภาพการนอน เพื่อสังเกตความผิดปกติของร่างกายขณะที่นอนหลับ เช่น ระบบหายใจ ระบบกล้ามเนื้อ ฯลฯ โดยจะนำผลการตรวจ Sleep Test ไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เพื่อประเมินสุขภาพ และความรุนแรงของโรค รวมถึงวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะการนอนหลับที่ผิดปกติ 

วิธีตรวจ Sleep Test : ผู้ที่ต้องการตรวจวัดสุขภาพการนอนหลับ จะต้องมาพักค้างคืนที่โรงพยาบาลและคลินิกที่ทำการตรวจ Sleep Test เนื่องจากจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจระหว่างนอนหลับ โดยมีคอมพิวเตอร์ช่วยจับสัญญาณอัตราการหายใจ คลื่นสมอง ค่าออกซิเจนในเลือด รวมถึงตรวจจับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายขณะนอนหลับ เช่น การหยุดหายใจ เสียงกรน การขยับของหน้าท้อง การกระตุกของกล้ามเนื้อ เป็นต้น 

หมายเหตุ : การตรวจสุขภาพการนอนไม่มีผลข้างเคียง หรือมีภาวะแทรกซ้อนหลังการตรวจ เป็นเพียงการนอนหลับตามปกติ เพียงแต่อยู่ในความดูแลของแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ

...

อาการแบบไหนที่ควรไปตรวจ Sleep Test

  • นอนกรนเสียงดังผิดปกติ
  • นอนละเมอ ฝันร้ายบ่อย กัดฟัน แขนขากระตุกระหว่างนอนหลับ
  • สะดุ้งตื่นเพื่อหายใจในเวลากลางคืนอยู่บ่อยๆ
  • มีอาการหายใจลำบาก และสงสัยว่าอาจหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • รู้สึกง่วงนอนมากๆ ในตอนกลางวัน ทั้งที่พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนเรื้อรัง ที่ยังหาสาเหตุไม่ได้

ผู้ที่มีอาการข้างต้น และพบว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์อายุรกรรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับ หู คอ จมูก หรือพบแพทย์ด้านโรคนอนไม่หลับโดยตรง

การเตรียมตัวก่อนตรวจ Sleep Test

  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มกาแฟอีน ประมาณ 24 ชั่วโมงก่อนมาตรวจ
  • คืนที่จะมาตรวจ ไม่ควรนอนหลับในตอนกลางวัน
  • ก่อนมาตรวจ แนะนำให้ดื่มน้ำน้อยๆ เพื่อป้องกันการลุกขึ้นไปปัสสาวะระหว่างตรวจสุขภาพการนอนหลับ
  • อาบน้ำ สระผม (งดใส่สเปรย์ผม) และรับประทานอาหารเย็นมาให้เรียบร้อย
  • หากกินยาประจำ เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิต และยารักษาเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ค่าใช้จ่ายในการตรวจ Sleep Test ราคาเท่าไร?

Sleep Test ที่ไหนดี? ปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และคลินิกด้านสุขภาพการนอนอีกหลายแห่ง มีบริการตรวจ Sleep Test (ควรสอบถามบริการก่อนทุกครั้ง) ซึ่งแบ่งการตรวจออกเป็นหลายระดับ แต่ละระดับก็จะมีราคาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบและสถานพยาบาล ส่วนใหญ่ราคา Sleep Test จะอยู่ที่ประมาณ 7,000-13,000 บาท 

Sleep Test เบิกได้ไหม? ผู้ที่ต้องการตรวจสุขภาพการนอนแบบ Sleep Test สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิที่มีอยู่ได้ เช่น เบิกตรงข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิประกันสุขภาพ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ควรสอบถามอย่างละเอียดกับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ทั้งเรื่องรูปแบบระดับการรักษา การจองคิว รวมถึงศึกษาเอกสารการเบิกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ ก่อนเข้ารับการตรวจทุกครั้ง

อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลศิริราช มหาราชการุณย์, โรงพยาบาลพระราม 9

อ่านเพิ่มเติม