- เส้นผมจะมีความหนาแน่นที่สุดและเส้นใหญ่ที่สุดจนถึงอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นเมื่ออายุมากขึ้น ความหนาแน่นและขนาดของเส้นผมจะเริ่มลดลง
- การสังเกตเห็นผมจำนวนมากในท่อระบายน้ำหลังจากสระผมหรือจับเป็นก้อนผมในแปรง หรือสังเกตเห็นผมบางหรือศีรษะล้านเป็นหย่อมๆ แสดงว่าผมร่วงมากกว่าปกติ
- สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของผมร่วง คือ มีประวัติครอบครัวผมบาง และอายุที่มากขึ้น
ผมร่วงเยอะมากเกิดจากอะไร
ในแต่ละวันคนเราจะมีผมร่วงประมาณ 50-100 เส้น แต่เพราะเรามีเส้นผมบนศีรษะมากถึง 100,000 เส้น การสูญเสียเพียงเล็กน้อยนั้นจึงไม่อาจสังเกตได้ นอกจากนี้ก็จะมีผมเส้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ผมที่เสียไปตามวงจรชีวิตของผม
เส้นผมจะมีความหนาแน่นที่สุดและเส้นใหญ่ที่สุดถึงอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้น เมื่ออายุมากขึ้น ความหนาแน่นและขนาดของเส้นผมจะเริ่มลดลง เนื่องจากวงจรชีวิตของเส้นผมเริ่มสั้นลง ทําให้ผมร่วงถี่ขึ้นและบางลง จนในที่สุดวงจรของเส้นผมหยุดและไม่สร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่อีกต่อไป ส่งผลให้ความหนาแน่นของเส้นผมน้อยลงเรื่อยๆ จนทําให้เห็นลักษณะผมบางหรือศีรษะล้านได้ชัดเจน ภาวะผมร่วงสามารถเกิดขึ้นได้ทีละน้อยหรือเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และอาจเป็นแบบถาวรหรือชั่วคราว แม้ผมร่วงจะพบมากในผู้สูงอายุ แต่อาการผมร่วงมากเกินไปก็อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีอายุน้อยด้วยเช่นกัน
ลักษณะแบบไหนที่เรียกว่า ผมร่วง
ผมร่วง (Hair Loss) หมายถึง การสูญเสียเส้นผมบนศีรษะหรือกับทุกส่วนในร่างกาย ลักษณะความรุนแรงอาจแตกต่างกัน การสังเกตเห็นผมจำนวนมากในท่อระบายน้ำหลังจากสระผมหรือจับเป็นก้อนผมในแปรง บนหมอน หรือสังเกตผมบางหรือศีรษะล้านเป็นหย่อมๆ แสดงว่ามีผมร่วงมากกว่าปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการผมร่วงและแนะนำแผนการรักษาที่เหมาะสม
...
ผมร่วงเกิดจากสาเหตุอะไร
- พันธุกรรม สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของผมร่วง คือ มีประวัติครอบครัวที่มีศีรษะล้าน มีการศึกษาเชื่อว่าสาเหตุทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น ความเครียด และมลภาวะ สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นการเกิดภาวะผมบางได้ โดยมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อ แอนโดรเจน เนื่องจากฮอร์โมนนี้เป็นตัวกําหนดวงจรและควบคุมการเติบโตของเส้นผม
- ภาวะเจ็บป่วย การผ่าตัด ความเครียดหรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะผมร่วงชั่วคราว ซึ่งผมจะเริ่มงอกใหม่โดยไม่ต้องรักษา
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้ผมร่วงได้ชั่วคราว ได้แก่ การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การเลิกใช้ยาคุมกำเนิด วัยหมดประจำเดือน
- โรคบางชนิดที่อาจทำให้ผมร่วง เช่น โรคต่อมไทรอยด์ การติดเชื้อที่หนังศีรษะ และโรคที่ทำให้เกิดแผลเป็น เช่น ไลเคนพลานัสและโรคลูปัสบางชนิด อาจทำให้ผมร่วงถาวรได้เนื่องจากแผลเป็น
- ผลกระทบจากยาที่ใช้รักษา เช่น โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ ภาวะซึมเศร้า
- การลดน้ำหนักอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น
- มีไข้สูง
- ขาดสารอาหาร เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก และสารอาหารอื่นๆ อาจทำให้ผมบางได้
การรักษาผมร่วงมีอะไรบ้าง
- ใช้ยา ส่วนใหญ่การใช้ยาเป็นวิธีการรักษาผมร่วงเริ่มแรก ทั้งยาทาและยาสำหรับรับประทาน ควรมาจากการแนะนำของแพทย์ เพราะมีผลข้างเคียงจากยาที่ต้องระวัง
- ทำทรีตเมนต์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดรากผมใหม่ รวมถึงบำรุงรักษาเส้นผมที่มีให้คงอยู่
- ปรับฮอร์โมน ในกรณีผมร่วงจากภาวะฮอร์โมนบกพร่อง
- ทำเลเซอร์ เพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมสภาพของเส้นผม และช่วยกระตุ้นเส้นผมให้เกิดใหม่
- ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP (Platelet-rich Plasma) เพื่อกระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์บริเวณรากผม
- การปลูกผม โดยวิธีผ่าตัดเจาะรากผมบริเวณท้ายทอย ซึ่งเป็นบริเวณไม่ค่อยโดนผลกระทบจากฮอร์โมน แล้วย้ายรากผมมาปลูกลงในบริเวณที่ต้องการ
วิธีแก้ผมร่วง และการดูแลรักษาไม่ให้เกิดผมร่วงหรือผมบางเพิ่มขึ้น
- หลีกเลี่ยงการมัดผมแน่นเกินไป พยายามอย่าดึง บิด หรือขยี้ผมแรงๆ
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กและโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน
- เลือกใช้แชมพูที่เหมาะกับสภาพหนังศีรษะ โดยแชมพูที่ใช้นั้นต้องไม่ก่อให้เกิดการแพ้ การคัน รังแค หรือผื่นบนหนังศีรษะ
- ผลิตภัณฑ์และเครื่องมือจัดแต่งทรงผมก็เป็นสาเหตุของปัญหาผมร่วงเช่นกัน เช่น เครื่องเป่าลม ที่หนีบผม ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม สารฟอกขาว น้ำยาดัด
- หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย หากกำลังเผชิญปัญหาผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคล
การมีผมร่วงนั้นเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นทุกๆ วัน ส่วนใหญ่มักเกิดเพียงชั่วคราว สำหรับบางคนอาจรู้สึกเฉยๆ และยอมรับได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดผมร่วงตามธรรมชาติหรือตามวัย ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาก็ได้ ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกไม่ดี ขาดความมั่นใจ และกลายเป็นความเครียดและวิตกกังวล จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเกิดผมร่วงและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด
...
บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.พญ. จิตรลดา มีพันแสน แพทย์ชำนาญการด้านผิวหนังและเส้นผม รพ สมิติเวช สุขุมวิท