การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญอย่างสม่ำเสมอ และช่วงปลายปีแบบนี้ การเลือกซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพเป็นของขวัญปีใหม่ให้ตัวเอง หรือคนที่เรารัก ก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจไม่น้อย ว่าแต่เราควรเลือกแพ็กเกจแบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา และคนที่เราซื้อให้ วันนี้ไทยรัฐออนไลน์มีเทคนิคมาฝาก
1. เลือกตามช่วงอายุ เพราะแต่ละช่วงวัยจะมีระบบการทำงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกแพ็กเกจที่ตรงกับช่วงวัยผู้ตรวจก็จะมีวิธีการตรวจและเฝ้าระวังที่ต่างกันไปด้วยนั่นเอง
- ช่วงอายุ 18-35 ปี เป็นช่วงวัยที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ เหมาะกับแพ็กเกจตรวจสุขภาพแบบธรรมดาที่ครอบคลุมการตรวจเช็กร่างกายทั่วไป
- ช่วงอายุ 35-60 ปี ช่วงวัยนี้จะเริ่มมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ มากขึ้น จึงควรเลือกแพ็กเกจที่มีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคทางพันธุกรรม หากมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจสุขภาพตาและมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย
- ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพราะต้องมีการตรวจเช็กที่ละเอียด และบ่อยครั้งมากขึ้น เพื่อเฝ้าระวังโรคร้าย จะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
...
2. เพศ นอกจากเรื่องช่วงอายุแล้ว การตรวจวินิจฉัยโรคเฉพาะทางบางอย่างก็มีความเสี่ยงที่จำแนกไปกับเพศที่แตกต่างกันด้วย
ผู้หญิง
- ตรวจเต้านม - ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้นควรได้รับการตรวจทุก 3 ปี และอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก - สามารถตรวจเช็กได้ด้วย Pap’s smear และวิธีป้ายหาความผิดปกติโดยใช้กรดอะซิติก (VIA) ซึ่งควรตรวจทุก 3 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ
- ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกช่วงกระดูกสันหลังส่วนเอว และสะโพก เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพในการซ่อมแซมของร่างกายก็ลดลงไปด้วย
ผู้ชาย
- ตรวจคัดกรองความผิดปกติของต่อมลูกหมาก - ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันอาการต่อมลูกหมากอักเสบ โรคต่อมลูกหมากโต และมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ตรวจระดับฮอร์โมนเพศชาย และระบบการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ - ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปี
3. ประวัติอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว นอกจากแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไปแล้ว หากทราบว่ามีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อบางชนิดที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ก็ควรเลือกแพ็กเกจที่ครอบคลุมการตรวจเช็กโรคเหล่านี้ เพื่อเฝ้าระวังอาการเป็นพิเศษจะได้รักษาทัน
4. พฤติกรรมและอาชีพ รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมความเคยชิน รวมถึงการทำงานบางอย่าง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น โรคทางระบบหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคออฟฟิศซินโดรม จึงควรเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่ครอบคลุมถึงปัจจัยความเสี่ยงเหล่านั้นด้วย เช่น ผู้ที่ดื่มสุรา ควรเลือกแพ็กเกจที่มีการตรวจค่าตับและไต ผู้ที่สูบบุหรี่ ควรเลือกแพ็กเกจที่ตรวจโรคปอดหรือมะเร็งปอด รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นต้น
5. ความคุ้มค่าของแพ็กเกจ คนทั่วไปอาจคิดว่าแพ็กเกจตรวจร่างกายที่คุ้มค่าที่สุดคือราคาไม่แพง แต่ความจริงแล้วเราควรเลือกแพ็กเกจที่ครอบคลุมการตรวจในสิ่งที่เราต้องการภายใต้ในราคาที่เราพึงพอใจที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีแพ็กเกจตรวจสุขภาพให้เลือกหลากหลายรูปแบบ หลายราคา และมีให้เลือกหลายโรงพยาบาล ดังนั้นเราจึงควรเลือกสิ่งที่ตอบโจทย์กับสุขภาพและราคาที่เราต้องการที่สุด โดยใช้เทคนิคทั้งหมดนี้มาประกอบการตัดสินใจ
เมื่อรู้เทคนิคการเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพแล้ว เราก็มาเลือกเป็นของขวัญปีใหม่ให้ตัวเอง หรือคนที่เรารัก สักแพ็กเกจกันดีกว่า เพราะไม่ว่าอะไรก็ไม่สำคัญไปกว่าการมีสุขภาพดีแข็งแรง จะได้อยู่กับคนที่เรารักไปนานๆ.