• ปัญหาที่เกิดจากการใช้สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่พบได้บ่อยคือ รับประทานเกินขนาดหรือต่อเนื่องเกินไปจนส่งผลเสียต่อตับ อาการไม่พึงประสงค์ของผู้ที่รับประทานสมุนไพรร่วมกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคประจำตัว หรือยาแผนปัจจุบันบางประเภท ซึ่งบางครั้งก็อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
  • น้ำเกรปฟรุต ทำให้ระดับยาลดความดันโลหิต และยาลดไขมันในเลือดสูงขึ้นหลายเท่าในกระแสเลือด จนส่งผลให้เกิดพิษจากยาได้
  • ในปัจจุบัน สามารถตรวจระดับวิตามินแร่ธาตุในร่างกายได้โดยการเจาะเลือด เพื่อค้นหาวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการจริง นำไปสู่การเลือกรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่เหมาะสมในแบบเฉพาะบุคคล

สมุนไพรคือจุดกำเนิดของพืชที่นำมาใช้ทางยาเพื่อรักษาอาการต่างๆ เมื่อหลายพันปีก่อน ในปัจจุบัน ความนิยมของการใช้ยาสมุนไพรยังคงแพร่หลาย โดยหลายคนมีความเชื่อว่าสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผลิตมาจากธรรมชาตินั้นมีประสิทธิภาพที่ดีและมีความปลอดภัยมากกว่ายาแผนปัจจุบัน

ปัญหาที่เกิดจากการใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น รับประทานเกินขนาดหรือต่อเนื่องเกินไปจนส่งผลเสียต่อตับ รวมถึงผลข้างเคียงอื่นๆ ที่เกิดจากการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ อาการไม่พึงประสงค์ของผู้ที่รับประทานสมุนไพรร่วมกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคประจำตัวหรือยาแผนปัจจุบันบางประเภท ซึ่งบางครั้งก็อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้น ก่อนที่จะรับประทานยา วิตามิน สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ร่วมกัน จึงควรศึกษาให้ดีก่อน ว่าแต่ละอย่างมีสรรพคุณอย่างไร ถ้ารับประทานร่วมกันแล้วจะก่อให้ประโยชน์หรือโทษอย่างไรบ้าง

...

5 กลุ่ม ยา วิตามิน และอาหาร ที่ไม่ควรรับประทานร่วมกัน

1. ยารักษาเบาหวานหรือ อินซูลิน (Insulin) 

ไม่ควรรับประทานกับ : มะระขี้นก ว่านหางจระเข้ โสม แมงลัก พืชตระกูลลูกซัด ผักเชียงดา และอาหารเสริมที่มีแร่ธาตุโครเมียม (Chromium)

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น : เสริมการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดทำให้น้ำตาลลดลงมากเกินไป อาจเกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ สายตาพร่า เหงื่อออกมาก หิวบ่อย อ่อนเพลีย

2. Nifedipine, Felodipine (ยาลดความดันโลหิต) และ Simvastatin, Atorvastatin (ยาลดไขมันในเลือด)

ไม่ควรรับประทานกับ : น้ำเกรปฟรุต

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น : ทำให้ปริมาณยาสูงหลายเท่าในกระแสเลือด อาจส่งผลให้เกิดพิษจากยาได้

3. ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Aspirin, Warfarin)

ไม่ควรรับประทานกับ : น้ำมันคานูล่า (canola oil) หรือน้ำมันดอกคำฝอย (safflower oil) น้ำมันปลา (Fish oil) น้ำมันดอกอีฟนิ่ง (Evening primrose oil) ตังกุย (Dong quai), กระเทียม (Garlic), แป๊ะก๊วย (Ginkgo), ขิง (Ginger)

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น : เสริมฤทธิ์ของยาทำให้เลือดออกง่ายขึ้น หากทานปริมาณที่มาก (ควรทานในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น ปรุงในอาหารได้ตามปกติ แต่ไม่ควรทานในรูปของอาหารเสริมหรือสารสกัดเข้มข้น)

4. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin

ไม่ควรรับประทานกับ : ผักใบเขียว ยอ ชาเขียว ถั่วเหลือง บรอกโคลี และอาหารเสริมโคเอ็นไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10)

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น : ลดฤทธิ์ของยาหรือต้านการออกฤทธิ์ของยาทำให้ระดับยาในเลือดไม่เพียงพอต่อการรักษา

5. ยาปฏิชีวนะกลุ่ม fluoroquinolone เช่น ยา norfloxacin, ciprofloxacin และยาปฏิชีวนะกลุ่ม tetracycline

ไม่ควรรับประทานกับ : นม โยเกิร์ต หรือยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะอาหาร และแคลเซียม

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น : ยาสามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับประจุบวกของธาตุแคลเซียม (ในนมและโยเกิร์ต) และแคลเซียม แมกนีเซียม อะลูมิเนียม (ในยาลดกรด) ทำให้ยาดูดซึมได้ลดลง ระดับยาในเลือดไม่เพียงพอต่อการรักษา

5 กลุ่ม ยา วิตามิน และอาหาร ที่ควรรับประทานร่วมกัน

...

ส่วนที่ละลายได้ดีในไขมัน ควรรับประทานพร้อมมื้ออาหารที่มีไขมัน และถ้าต้องรับประทานวิตามินในมื้อเดียว ให้เลือกมื้อที่ใหญ่ที่สุดของวัน หรือรับประทานครึ่งหนึ่งหลังอาหารเช้า ครึ่งหนึ่งหลังอาหารเย็นก็ได้เช่นกัน

1. วิตามินเอ ดี อี หรือเค

ควรรับประทานหลังอาหารมื้อใหญ่หรือมื้อที่มีไขมันจากสัตว์หรือจากพืช หรืออาหารเสริมกลุ่มน้ำมันปลา เพราะช่วยให้วิตามินดูดซึมได้ดีในร่างกาย

2. ธาตุเหล็ก 

ควรรับประทานกับวิตามินซี หรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เพราะช่วยให้การดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้น

3. แคลเซียม

ควรรับประทานกับวิตามินดี หรืออาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี เช่น เห็ด นม ปลา ชีส เพราะช่วยให้แคลเซียมดูดซึมได้ดีขึ้นในลำไส้เล็ก

4. คอลลาเจนเปปไทด์ ชนิดโมเลกุลเล็ก

ควรรับประทานกับวิตามินซี เพราะช่วยเสริมการทำงานของกันและกันในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนของผิวพรรณ

5. โคเอนไซม์คิวเท็น

ควรรับประทานหลังอาหารมื้อใหญ่หรือมื้อที่มีไขมันจากสัตว์หรือจากพืช เพราะช่วยให้โคเอนไซม์คิวเท็นดูดซึมได้ดีในร่างกาย

ยา วิตามิน สมุนไพร และอาหารเสริมจึงเปรียบเสมือนดาบสองคม หากรับประทานร่วมกันโดยไม่ได้ระมัดระวังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ โดยไม่รู้ตัว ในปัจจุบัน เราสามารถตรวจระดับวิตามินแร่ธาตุในร่างกายได้โดยการเจาะเลือด เพื่อค้นหาวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการจริง นำไปสู่การเลือกรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมในแบบเฉพาะบุคคล

บทความโดย นพ.ภาณุวัฒน์ พุทธเจริญ แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

...