10 ตุลาคม เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) โรคที่ควรพูดถึงในตอนนี้คือ "โรคซึมเศร้า" ซึ่งไม่ใช่แค่อาการอ่อนแอทางจิตใจ แต่คืออาการป่วยทางร่างกายอย่างหนึ่งยิ่งในช่วงระบาดของโควิด-19 จิตใจยิ่งหมกมุ่น ความกลัวมีเข้ามาต่างๆ นานา ความเครียดจากการเรียนออนไลน์ ตกงาน ความไม่มั่นคงทางการเงินของครอบครัว
จากผลสำรวจของยูนิเซฟพบว่าประชากรไทยได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตค่อนข้างสูง และในรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของภาวะสุขภาพจิตเกิดขึ้นก่อนอายุ 15 ปี แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา ยังพบข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตอ้างอิงจากยูนิเซฟ พ.ศ. 2562 พบว่า เยาวชนไทยอายุ 10-29 ปี ฆ่าตัวตายราว 800 คน
ประวัติและที่มาวันสุขภาพจิตโลก
วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) 10 ตุลาคม ริเริ่มจากองค์การสหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health : WFMH) ร่วมกับ สมาคมนานาชาติ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย (International Association for Suicide Prevention : IASP) สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก เกิดขึ้นครั้งแรกวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2535
ปัญหาของสุขภาพจิต มีความสำคัญต่อสังคมมิติชีวิตทุกด้านของผู้คน ในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม หากเริ่มต้นในวัยเด็ก ก็จะมีผลการเรียนต่ำลง มีความวิตกไม่อยากไปเรียนหนังสือ ซุกซน ก้าวร้าว ดื้อรั้น ในวัยผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ที่มีความกังวลสูง ท้อแท้ สับสน มีพฤติกรรมการกินหรือการนอนที่เปลี่ยนไป รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง รวมไปถึงความคิดที่จะใช้ยาเสพติด หรือ ฆ่าตัวตาย
วันสุขภาพจิตโลก จึงเป็นวันที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปัญหาสุขภาพจิตทั่วโลก ร่วมจัดกิจกรรมเสวนา หรือฟื้นฟูผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ในประเทศไทย ก็มีพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ป่วยจิตเวช ส่งเสริมให้เข้ารักษาตัว และเมื่อหายแล้วก็กลับมารักษาให้ครอบคลุมการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้
...
DO’S & DON’T สำหรับคนใกล้ชิดที่เป็น “โรคซึมเศร้า” ที่ควรรู้
เดือนตุลาคมนี้ เป็นเดือนแห่งวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) จึงอยากให้เราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตของเราเองและคนรอบข้าง และครอบครัวนับเป็นรากฐานที่สำคัญที่ควรให้ความเข้าใจและรับฟังอย่างตั้งใจ ยิ่งถ้าคนใกล้ตัวเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เราจะดูแลพวกเขาอย่างไร นี่คือไกด์ไลน์ว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ
วิธีดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า
สิ่งที่ควรทำ
• พูดคุยชี้ให้ผู้ป่วยให้เห็นมองเห็นข้อดีของตัวเองเสมอ เพราะหัวใจของการรักษาโรคซึมเศร้า นอกเหนือจากการใช้ยาแล้วคือการที่ผู้ป่วยต้องมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ที่จะทำให้อยากใช้ชีวิตอยู่ และมีกำลังใจสู้ต่อ
• ชวนผู้ป่วยให้ลุกมาทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเล่นกีฬาเบาๆ เล่นเกม ทำงานศิลปะ นอกจากจะลดโอกาสที่จะคิดฟุ้งซ่าน และคิดหดหู่แล้ว การเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยหลั่งสารความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมา ให้ผลใกล้เคียงกับการใช้ยาเลย
• ฟังด้วยความตั้งใจ และท่าทีที่สบายๆ ไม่คะยั้นคะยอ และไม่ตัดสินใจแทน นั่นเพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความคิดว่าตัวเองเป็นที่น่ารำคาญ หรือเป็นภาระให้คนอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น การจะให้ผู้ป่วยพูดคุยระบายความรู้สึก ต้องให้พวกเขารู้สึกก่อนว่ามีคนอยากรับฟัง และไม่กดดัน หรือตัดสินเขา สร้างความไว้วางใจ และบรรยากาศสบายๆ ให้ผู้ป่วยได้เล่าสิ่งที่อยากพูดออกมาเต็มที่ เพราะในบางครั้งเขาอาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรืออยากตาย หากว่าคนรอบข้างได้มีโอกาสรับฟัง จะได้สามารถป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
สิ่งที่ไม่ควรทำ
• อย่าบอกปัด ผู้ป่วยให้ไปเข้าวัดฟังธรรมหรือทำจิตใจให้สงบ โดยไม่อยู่เคียงข้างพวกเขา เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกทันทีว่าไม่มีที่พึ่งพา หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่น่ารำคาญ และยิ่งตีตัวออกห่าง ส่งผลให้เกิดความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ได้
• อย่าทำเป็นไม่ได้ยิน หรือไม่อยากพูดถึงเมื่อผู้ป่วยพูดถึงการอยากตาย หลายๆ คนคิดว่าการเอ่ยหรือพูดคุยถึงเรื่องการฆ่าตัวตายกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจเป็นแนวโน้มให้ผู้ป่วยอยากทำ หรือชี้โพรงให้กระรอก แต่ในความเป็นจริงแล้วหากผู้ป่วยเอ่ยถึงการอยากตาย แล้วคนใกล้ตัวกลับมีท่าทีต่อต้าน หรือทำเป็นไม่สนใจเพื่อให้ผู้ป่วยเลิกคิด หรือมีคำพูดทำนองว่า “อย่าคิดมาก” “อย่าคิดอะไรบ้าๆ” ยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงอย่างมากว่าเราไม่รับฟังสิ่งที่เขารู้สึกคับข้องใจ ไม่มีวันจะเข้าใจเขาจริงๆ
• อย่ากดดันและเร่งรัด ถ้าผู้ป่วยยังอาการไม่ดีขึ้น ห้ามพูดหรือทำให้พวกเขารู้สึกว่า “เมื่อไหร่จะหาย” หรือ “หายได้แล้ว” เพราะผู้ป่วยจะยิ่งรู้สึกกดดัน และผิดหวังว่าตนเองเป็นที่น่ารำคาญ หรือเป็นภาระ และหากอาการเพิ่งเริ่มดีขึ้น ความเครียดเหล่านี้จะยิ่งส่งผลให้จิตใจแย่ลง และอาจเป็นหนักกว่าเดิม
คำแนะนำ : ควรเข้าหา ยินดีช่วยเหลือ พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจ เข้าใจ ไปเป็นเพื่อนเมื่อพบจิตแพทย์เสมอ หากผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าบอกไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว.
อ้างอิง : unicef.org
บทความโดย : ศูนย์ Let’s Talk Center / โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
...