• โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคในระบบทางเดินหายใจหรือโรคปอด มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาโดยตลอด อาจทำให้พบโรคในระบบเหล่านี้ได้มากกว่าหนึ่งระบบ หรือการมีโรคเดิมอยู่ในระบบหนึ่ง อาจเกิดโรคตามมาในระบบอื่นๆ ได้
  • สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association: AHA) ระบุว่า ในปี 2018 หากมีคนไข้เป็นโรคหัวใจ 100 คน จะพบคนที่มีความเสี่ยงเป็นสโตรกได้ถึง 17 คน
  • การดูแลตัวเองด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ และค้นหาโรคเชิงรุกที่เกิดขึ้นในระยะแรกเริ่ม โดยการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจคัดกรอง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนในระบบอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กันได้

หัวใจ สมอง และปอด : 3 อวัยวะที่ทำงานสัมพันธ์กัน

โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคในระบบทางเดินหายใจหรือโรคปอดนั้น มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาโดยตลอด จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2019 พบว่าสาเหตุการเสียชีวิต 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ตามลำดับ โดยมีความสัมพันธ์ต่อกันดังต่อไปนี้

...

โรคหัวใจ กับโรคหลอดเลือดสมอง

โรคทั้งสองอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคทั้งสองระบบมีความคล้ายคลึงกันมาก ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยปัจจัยดังกล่าวเร่งหรือเอื้อต่อการเกิดคราบไขมันที่ไปเกาะด้านในผนังหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดที่คอ หลอดเลือดในสมอง เมื่อคราบไขมันสะสมมากขึ้น ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและ/หรือหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและ/หรือสมองขาดเลือดเฉียบพลันได้ หรือในส่วนของการสะสมของคราบไขมันที่หลอดเลือดส่วนต้นคอ ถ้ามีการหลุดลอกของคราบไขมันไปยังหลอดเลือดสมอง ก็ทำให้เกิดสมองขาดเลือดได้เช่นกัน อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดเปราะบาง ไม่แข็งแรง เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองในสมองหรือในช่องท้อง ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแตกหรือฉีกขาด นำไปสู่ภาวะเลือดออกในสมองหรือช่องท้อง ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตได้อีกด้วย

ในขณะเดียวกัน การเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน/หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้เลือดหมุนวนตกค้างอยู่ในหัวใจห้องบน เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและเกิดการหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดในสมองได้ โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่สูงที่สุด และอาจสูงมากกว่า 5 เท่าหากผู้ป่วยมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ ยังมีรายงานพบด้วยว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจขาดเลือดนั้น เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง และในรายงานของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association: AHA) ระบุว่า ในปี 2018 มีรายงานว่า หากมีคนไข้เป็นโรคหัวใจ 100 คน จะพบคนที่มีความเสี่ยงเป็นสโตรกได้ถึง 17 คน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมสภาวะต่างๆ อย่างเหมาะสมให้อยู่ในระดับที่ปกติ และควรเฝ้าระวังโรคเหล่านี้แต่เนิ่นๆ

โรคปอด กับ โรคหัวใจ

การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุของหลักของการเกิดโรคปอด ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคมะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease-COPD) เช่น ถุงลมโป่งพอง (Emphysema) ซึ่งมีส่วนทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นเนื่องจากแรงต้านในปอดสูงกว่าปกติ ความดันของหลอดเลือดที่ไหลกลับเข้าสู่หัวใจเพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้นได้ อีกทั้งโรคถุงลมโป่งพองยังสามารถเพิ่มความดันโลหิตของหลอดเลือดปอด ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องขวาล้มเหลวได้ ภาวะนี้เป็นภาวะที่อันตราย ทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยมากและเสียชีวิตได้ในที่สุด ทั้งนี้ ยังมีรายงานพบอีกว่า ในคนที่เป็นโรค COPD 100 คน จะมีคนที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 25-33 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากทีเดียว นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีลิ่มเลือดอุดตันในปอด หากเกิดในภาวะเฉียบพลัน สามารถทำให้หัวใจหยุดเต้นหรือทำให้หัวใจด้านขวาวายฉับพลันได้ หรือในกรณีเรื้อรังก็สามารถทำให้เกิดภาวะความดันเลือดในปอดสูงได้

...

ในทางกลับกัน โรคหัวใจชนิดต่างๆ ก็ส่งผลต่อปอดด้วยเช่นกัน เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมากจนบีบเลือดออกจากหัวใจได้ไม่ดี โรคหัวใจเหล่านี้ทำให้หัวใจทำงานได้ไม่ปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดคั่งค้างที่หัวใจ และล้นกลับไปที่ปอด ไปอยู่ในถุงลมของปอด ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมปอดได้ในที่สุด ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เหนื่อยจนนอนราบไม่ได้ และ/หรือต้องตื่นขึ้นมาหายใจหลังจากหลับไปแล้ว ซึ่งภาวะนี้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ารักษาไม่ถูกต้องและทันท่วงที ทั้งนี้ หากพบโรคปอดเหล่านี้กับโรคหัวใจร่วมกัน จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตราการตายมากขึ้นได้อีกด้วย

โรคปอด กับ โรคหลอดเลือดสมอง

ทั้งสองโรคนี้มีความเสี่ยงของการเกิดโรคร่วมกัน คือ การสูบบุหรี่ จึงมีโอกาสที่จะพบโรคของทั้งสองระบบเช่นเดียวกันในคนกลุ่มนี้

ในส่วนของโรคปอดเองก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ เช่น การเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism) ร่วมกับภาวะผนังกั้นหัวใจรั่ว อาจมีการหลุดของลิ่มเลือดในปอดผ่านทางหลอดเลือดดำจากปอดไปยังสมอง ทำให้เกิดอาการหลอดเลือดสมองอุดตันได้ หรือลิ่มเลือดนั้นอาจเกิดจากภาวะเลือดหนืด ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดหลายตำแหน่งของร่างกาย ตำแหน่งที่พบได้บ่อย คือ หลอดเลือดปอด หลอดเลือดที่ขา และหลอดเลือดสมอง อีกทั้งโรคมะเร็งหลายชนิด รวมถึงมะเร็งปอด ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดด้วยเช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม ผู้ป่วยที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองและมีความทุพพลภาพ มีการเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยลง ก็อาจเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่ขา และหากมีการหลุดของลิ่มเลือดจากขาไปสู่ปอด ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันที่ปอดตามมาได้ด้วยเช่นกัน

...

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้

หากมีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ได้แก่ มีความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวาน มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีภาวะเครียดอยู่ตลอด รวมถึงมีอายุมากกว่า 50 ปี และมีประวัติคนในครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรงป่วยเป็นโรคดังกล่าว ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคปอดได้ ในบางครั้งเราอาจพบโรคเหล่านี้ได้ในผู้ป่วยที่อายุน้อยลง โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงร่วมกันหลายข้อ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยรายนั้นจะออกกำลังกายอย่างหนัก ก็ยังสามารถพบโรคเหล่านี้ได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ระบบหรืออวัยวะนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง หากมีความเสี่ยงของโรคใดโรคหนึ่งแล้ว ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคของอีกสองระบบที่เหลือได้เช่นกัน ทั้งนี้ สามารถรับการตรวจคัดกรองโรคก่อนมีอาการป่วยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ เช่น

  • การตรวจ CT calcium scoring หรือ การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อคัดกรองโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • การตรวจ Carotid Duplex Ultrasounds หรือ การตรวจหลอดเลือดที่คอ เพื่อคัดกรองโรคทางสมองและระบบประสาท
  • การตรวจ CT chest screening Low Dose หรือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ปอดแบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ เพื่อคัดกรองโรคทางระบบทางเดินหายใจ

...

ทั้งนี้เราสามารถดูแลตัวเองด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ เช่น ความดัน น้ำตาล และไขมันในเลือด การสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก เป็นต้น และค้นหาโรคเชิงรุกที่เกิดขึ้นในระยะแรกเริ่ม โดยการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจคัดกรอง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคและลดความรุนแรงหากเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อในระบบอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน

บทความโดย : พญ.จิตรลดา สมาจาร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท