ในภาวะวิกฤติโควิด-19 หลายคนประสบปัญหาทางการเงิน และอาจจะยังไม่คุ้นชิ้นกับการทำงานแบบ Work From Home จนเกิดเป็นภาวะเครียดสะสม มีอาการปวดหัวเรื้อรัง ด้วยมีเรื่องให้ต้องคิดรอบด้าน ผู้ป่วยบางคนรู้ตัวว่าตนเองป่วย แต่บางรายก็ไม่รู้ตัว
ที่ต้องระวังคือการสับสนระหว่างอาการปวดหัวที่เป็นอยู่อาจจะเป็น “โรคทางจิตเวช” และผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดคิดว่าตนไม่ได้ป่วยเป็นโรคทางกาย พอมีอาการปวดหัวเป็นๆ หายๆ ก็รับประทานยา แต่สักพักก็กลับมาปวดหัวอีก การปล่อยให้อาการแย่ลงเรื่อยๆ และเกิดขึ้นบ่อยๆ ท้ายที่สุดจะกลายเป็น... “โรคปวดหัวเรื้อรัง” จนท้ายสุดแก้ไขไม่ทัน
อาการปวดหัวของแต่ละคนมีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนควรทำเหมือนกันเมื่อมีอาการปวดหัวผิดปกติ คือ… ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพราะจะได้รับการวินิจฉัยถึงสาเหตุของโรค และรักษาอาการที่เป็นอยู่ไม่รุนแรงให้หายขาดได้
ทำไมเราจึงปวดหัวบ่อยๆ
อาการปวดหัวเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป บางคนมีอาการปวดเล็กน้อย บางคนปวดมาก สาเหตุที่แท้จริงนั้นมาจากหลายทาง เช่น ปวดหัวจากความเครียด ปวดหัวไมเกรน หรือมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น มีเนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองโป่งพอง โพรงจมูกอักเสบ หรือสายตาผิดปกติ และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงแตกต่างกัน
...
อาการปวดหัวแบบไหนถึงเรียกว่า “ปวดหัวเรื้อรัง” และเกิดจากสาเหตุใด
“อาการปวดหัวเรื้อรัง” คืออาการปวดหัวที่ต่อเนื่องมากกว่า 15 วันต่อเดือน และเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน มีโอกาสพัฒนามาจากการปวดหัวทั่วไปที่เกิดจากความเครียด ไมเกรน หรือการใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกวิธี ส่งผลต่อเนื่องกลายเป็นอาการปวดหัวเรื้อรั้ง และมีโอกาสนำไปสู่โรคร้ายอื่นๆ
ปวดหัวแบบไหน...ไม่อันตราย?
อาการปวดหัวที่เกิดจาก การปวดหัวไมเกรน ปวดหัวจากความเครียด การใช้ความคิด การนั่งทำงานนานๆ แสงสว่างไม่พอ เกิดความตึงของกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการเหล่านี้เป็นอาการปวดหัวที่มักไม่เป็นอันตราย และถึงแม้ว่าอาการปวดหัวเรื้อรังจะรักษาไม่หายขาด แต่สามารถป้องกันและทำให้บรรเทาลงได้
“ปวดหัวเรื้อรัง” แบบนี้สิ...ถึงอันตราย
เมื่อไหร่ที่มีอาการปวดหัวแบบรุนแรงมากหรือรุนแรงที่สุดในชีวิตที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมักมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน การได้ยินลดลง หรือชักเกร็ง กระตุก เดินเซ หรือคอแข็ง หรือมีอาการปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน อาจเป็นอาการของโรคอื่นที่แอบแฝง เช่น เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง เส้นเลือดสมองโป่งพอง หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้จะก่อให้เกิดอันตรายได้มาก ดังนั้นหาก…มีอาการเหล่านี้อย่าชะล่าใจ...รีบมาพบแพทย์ด่วน!!
1. ปวดศีรษะรุนแรงขึ้นแบบทันทีทันใด
2. ปวดศีรษะพร้อมกับมีไข้ และคอแข็งร่วมด้วย
3. ปวดศีรษะร่วมกับอาการทางระบบประสาทผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ปากเบี้ยว เป็นต้น
4. อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV
5. ปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษา
อาการปวดหัวเรื้อรัง รักษาได้หรือไม่
วิธีรักษาอาการปวดหัวเรื้อรัง แบ่งได้ตามความรุนแรง หากพบว่าปวดหัวเรื้อรังเบื้องต้น แพทย์ก็จะทำการซักประวัติโดยละเอียด ทำการตรวจร่างกายและตรวจทางระบบประสาท หากพบว่าอาการปวดดังกล่าวเป็นอาการที่ไม่ก่ออันตราย แพทย์ก็จะให้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อหรือคลายเครียด และแนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
ในกรณีที่มีความผิดปกติก็จะมีการตรวจเพิ่มเติม ทั้งการตรวจเลือด การตรวจเอกซเรย์ ซึ่งมีทั้งเอกซเรย์กะโหลกศีรษะแบบธรรมดาเพื่อดูโพรงไซนัส หรือพิจารณาส่งตรวจด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) ซึ่งจะให้ความละเอียดมากขึ้น
MRI การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาความผิดปกติ
MRI เป็นนวัตกรรมการตรวจโดยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีความปลอดภัยสูง และไม่มีอันตรายต่อร่างกาย ส่วนใหญ่มักใช้ตรวจวินิจฉัยเนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะเนื้องอกในสมองและกะโหลกศีรษะบริเวณสมองน้อยและก้านสมอง และยังนำ MRI มาใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติอื่นของสมองได้อีก เช่น ภาวะสมองอักเสบจากสาเหตุต่างๆ โรคปลอกประสาทอักเสบ เพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป
...
อาการแบบไหนควรได้รับการตรวจ MRI สมอง
1. มีอาการปวดหัว แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
2. มีอาการชักหรือหมดสติบ่อยๆ ความจำเสื่อม สับสน คลื่นไส้ อาเจียน
3. มีอาการวิงเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน เสียการทรงตัว เป็นๆ หายๆ
4. มีอาการ ปากเบี้ยว หนังตาตก หรือลิ้นชาแข็ง
อย่าปล่อยให้ “อาการปวดหัวเรื้อรัง” มาบดบังความสุขเรา
อาการปวดหัวเรื้อรังในระยะเริ่มต้นดูไม่ค่อยน่ากังวลมากนัก หลายคนจึงปล่อยให้อาการของโรครุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่ระดับที่ยากต่อการรักษา ฉะนั้นเราไม่ควรปล่อยให้โรคนี้มารุกรานความสุขในชีวิตเรานาน... ทางออกที่ดีสุดนั่นคือ “การพบแพทย์เฉพาะทาง”
บทความโดย : พญ. ลลิตพรรณ สุดประเสริฐ อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมอง ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์
...