พืชกระท่อมได้รับการปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป นำไปสู่ขั้นตอนการร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม เพื่อควบคุมรายละเอียดการปลูกและการจำหน่าย จึงทำให้หลายคนเริ่มสนใจประโยชน์ของ "ใบกระท่อม" ซึ่งแต่เดิมเป็นพืชสมุนไพรในท้องถิ่นที่มีสรรพคุณทางยาช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้
รู้จักประโยชน์ของ "ใบกระท่อม" มีสรรพคุณทางยาอย่างไร?
กระท่อม (ภาษาอังกฤษ Kratom, ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa) เป็นไม้ยืนต้นที่นิยมเพาะปลูกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลายสายพันธุ์ ในประเทศไทยพบมากในพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ป่าธรรมชาติของภาคใต้ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ส่วนใบของพืชกระท่อม หรือใบกระท่อม ถูกใช้เป็นยาสมุนไพรในท้องถิ่นมายาวนาน แต่เดิมชาวบ้านนิยมเคี้ยวใบสด หรือนำไปตำน้ำพริก เพื่อช่วยให้รู้สึกมีเรี่ยวแรงเมื่อต้องออกไปทำไร่นา เนื่องจากพืชกระท่อมจะออกฤทธิ์คล้ายกับแอมเฟตามีน กระตุ้นประสาทให้ทำงานได้มากขึ้น
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2522 กระท่อมถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ชนิดเดียวกับกัญชา ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 7 ก่อนจะถูกปลดล็อกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2564
ใบกระท่อมถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำพืชมาใช้รักษาอาการต่างๆ ในสมัยที่คนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ได้ โดยในปัจจุบันมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของพืชกระท่อม ที่สามารถนำมาสกัดใช้ในทางสุขภาพได้ โดยมีสรรพคุณทางยา ดังนี้
- รักษาโรคบิด ท้องเสีย ท้องเฟ้อ และอาการมวนท้อง
- บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกาย
- ใช้บดทำเป็นยาสมุนไพรสำหรับพอกรักษาแผล
- แก้นอนไม่หลับ ช่วยระงับประสาท คลายวิตกกังวล
- ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า รักษาระดับพลังงาน ทำงานได้นานขึ้น
...
โทษของใบกระท่อม และอาการข้างเคียงที่ส่งผลต่อสุขภาพ
ใบกระท่อมออกฤทธิ์ทางยาที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ในเบื้องต้นให้แก่ร่างกายได้ แต่หากกินในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ปัจจุบันมีข้อระวังในกลุ่มที่นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปต้มเพื่อผสมกับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ โดยไม่ได้มุ่งใช้ประโยชน์ในทางสรรพคุณของยา สำหรับผู้ที่กินใบกระท่อมมากเกินไป จะมีอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ปากแห้ง
- เบื่ออาหาร
- ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย
- หนาวสั่น
- นอนไม่หลับ
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ผิวหนังสีเข้มขึ้น
- ประสาทหลอน
- หวาดระแวง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปลดล็อกใบกระท่อมเพื่อประโยชน์ทางอาหารและยาแล้ว แต่ก็ยังมีข้อควรระมัดระวังทางกฎหมายที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะการนำไปใช้ผสมกับสิ่งเสพติดชนิดอื่น การขายน้ำต้มกระท่อมในหอพัก สถานศึกษา รวมถึงจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์ และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ล้วนถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่สามารถทำได้