การที่เราต้องตื่นเช้าออกไปทำงานในทุกๆ วัน ต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรที่ติดขัด เผชิญกับการทำงานที่หนัก ปัญหาในการทำงานต่างๆ และยังต้องรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่มีหลากหลายประเภท ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจนำไปสู่ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ได้
“ภาวะหมดไฟ (Burn out)” เป็นผลที่เกิดจากความเหนื่อยล้าจากความเครียดในการทำงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้
1. Emotional exhaustion คือ ความรู้สึกว่าต้องรับความกดดันทางอารมณ์มากเกินไป และรู้สึกหมดพลังที่จะทำงาน
2. Depersonalization คือ การมีทัศนคติด้านลบต่องาน ไม่ใส่ใจ เฉยเมย หรือเย็นชา และแยกตัวจากผู้อื่น
3. Diminished sense of personal accomplishment คือ ความรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงาน รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้
หากภาวะหมดไฟนี้เกิดขึ้นกับใคร ก็จะทำให้ความรู้สึกอยู่ดีมีสุข (personal well-being) ของคนคนนั้นลดลง เกิดความผิดพลาดในการทำงาน และสุดท้ายคือ ผลเสียต่อองค์กร กล่าวคือ ทำให้อัตราการลาออกเพิ่มขึ้น และการเพิ่มผลผลิต (productivity) ขององค์กรลดลง
การดูแลภาวะหมดไฟ
แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับองค์กร และระดับบุคคล ดังนี้
...
1. ระดับองค์กร
- ควรจัดภาระงานอย่างเหมาะสม เพื่อให้บุคลากรมีเวลาในการจัดการเรื่องส่วนตัว และดูแลครอบครัว
- ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม
- มีช่องทางรับฟังผู้ปฏิบัติงาน
- เห็นคุณค่าของสิ่งที่บุคลากรทำ และให้เครดิต
2. ระดับบุคคล
- ตั้งสติ เตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
- ทบทวนว่าตนเองเริ่มมีหมดไฟในการทำงานหรือไม่
- แบ่งเวลาในการพักผ่อน มีช่วงเวลา “zero office contact”
- ตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง
- ทำงานเป็นทีม โดยฝึกการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำงาน
- มีคนที่ไว้ใจได้คอยให้คำปรึกษา และพึ่งพาทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก ครอบครัว เพื่อน หรือผู้ร่วมงาน
จะเห็นได้ว่า “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากเข้าใจ และปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะทำให้สามารถกลับไปทำงานได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
__________________________________________________
แหล่งข้อมูล
รศ.นพ.พิชัย อิฏฐสกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล