จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยกระดูกและข้อเพิ่มขึ้นจาก 400 ล้านคนเป็น 570 ล้านคน โดยเฉพาะ “โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)” ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคข้อและเข่าเสื่อม 1,700 และ 2,693 คนต่อประชากร 100,000 คน

สำหรับในประเทศไทยเองก็เช่นกัน จากสถิติในปีเดียวกัน มีผู้ป่วยโรคนี้ มากกว่า 6 ล้านคนโดยข้อที่เสื่อมมากที่สุด คือ ข้อเข่า เนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อที่มีขนาดใหญ่ และต้องรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง อีกทั้งยังเป็นอวัยวะที่ต้องเคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา ใช้งานหนัก จึงทำให้เกิดการเสื่อมได้ง่าย โดยเฉพาะในคนที่มีน้ำหนักตัวเกิน ส่วนในผู้สูงอายุนั้นเป็นการเสื่อมที่เป็นไปตามอายุที่มากขึ้น นอกจากนี้โรคข้อเข่าเสื่อมยังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น ความพิการแต่กำเนิด ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

“โรคข้อเข่าเสื่อม” คือ โรคที่มีความผิดปกติของกระดูกอ่อนข้อต่อ จากการลดลงของสารมิวโคโพลี่แซกคาไรด์คอนดอยตินซัลเฟต ซึ่งเกี่ยวข้องกับคอลลาเจน และโปรตีโอไกลแคน ที่เป็นองค์ประกอบเนื้อพื้นกระดูก ทำให้กระดูกอ่อนข้อต่อแตกหลุดออก ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกแข็งใต้กระดูกอ่อนข้อต่อหนาตัว หรือมีการสร้างกระดูกใหม่ของขอบข้อ หรือกระดูกงอกเกิดขึ้นบริเวณดังกล่าว ทำให้ข้อเข่ามีรูปร่างเปลี่ยนไป โดยไม่มีสาเหตุจากการอักเสบ

อาการ

คนไข้โรคข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการ ดังนี้

• ปวดข้อ ซึ่งเป็นอาการสำคัญ โดยอาการจะปวดมากขึ้น เมื่อใช้งานข้อเข่าและอาการจะดีขึ้นเมื่อได้พักการใช้งาน นอกจากนี้ อาการปวดเข่าจะเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นหรือชื้น และบางรายอาจมีอาการปวดข้อเข่าเวลากลางคืน ซึ่งทำให้รบกวนการนอนหลับ

...

• ข้อฝืด/ติดขัด เป็นอาการที่มักเกิดในตอนเช้าหลังตื่นนอนจากการพักข้อ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวขณะนอน โดยจะเกิดในเวลาสั้นๆ ประมาณ 30 นาทีหลังตื่นนอน

• มีเสียงดังในข้อเวลาเคลื่อนไหว การมีปุ่มกระดูกงอกบริเวณขอบข้อต่อ ทำให้ช่องระหว่างข้อแคบลงเมื่อมีการเคลื่อนไหว จึงเกิดการเสียดสีของกระดูกขึ้น

• ข้อบวมหรือข้อโต เนื่องจากมีการสร้างน้ำไขข้อเพิ่มขึ้น โดยปกติข้อที่บวมนี้จะไม่อุ่น ยกเว้นมีการอักเสบเกิดขึ้นร่วมด้วยจากการมีผิวกระดูกอ่อนแตกลอกหลุดเข้ามาในน้ำไขข้อ ทำให้คลำได้ข้ออุ่น

• กดเจ็บที่ข้อ การงอกของกระดูกบริเวณขอบข้อต่อ ร่วมกับมีการอักเสบของข้อเกิดขึ้น เมื่อตรวจร่างกายจะพบอาการแดง ร้อน และเมื่อกดบริเวณข้อที่โตเนื่องจากกระดูกงอกดังกล่าวขณะมีการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหรือเจ็บ

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ อายุที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้น เพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย การมีภาวะน้ำหนักเกิน การใช้งานข้อเข่าที่มากเกินไป การยกของหนัก รวมถึงอิริยาบถในการทำงาน การนั่งในท่างอเข่านานๆ ท่านั่งยองๆ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ข้อเข่าเสื่อมได้ทั้งสิ้น

การป้องกันและชะลอข้อเข่าเสื่อม

การให้ความรู้และข้อมูลสุขภาพ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนำมาวางแผนในการจัดการดูแลสุขภาพตนเอง เช่น การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและรอบข้อเข่า การลดน้ำหนัก เป็นต้น นอกจากนี้การให้ความรู้ยังทำให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาล ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เพิ่มความมั่นคงของข้อเข่า และการบริหารเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางกาย โดยมีท่าบริหารเข่าง่ายๆ ดังนี้

• ท่านั่งเหยียดกล้ามเนื้อยกขา นั่งหลังตรงพิงเก้าอี้ เหยียดขาข้างที่บริหาร ค่อยๆ ยกขาขึ้นขนานกับพื้น เกร็งค้างไว้ นับ 1-10 แล้วค่อย ๆ วางลงที่พื้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง (นับเป็น 1 รอบ) ทำวันละ 3 รอบ พยายามทำจนเป็นนิสัย

• ท่านอนเกร็งกล้ามเนื้อต้นขา นอนหงาย ม้วนผ้าเล็ก ๆ รองข้อเท้าข้างที่จะบริหาร งอเข่าขาอีกข้าง เริ่มบริหารโดยพยายามกดเข่าข้างที่บริหารให้แนบพื้น เกร็งค้างไว้ นับ 1-10 แล้วผ่อน ทำซ้ำ 5 ครั้ง (นับเป็น 1 รอบ ทำอย่างน้อยวันละรอบ)

...

• ท่านอนหงายเหยียดขายก นอนหงาย งอเข่าอีกข้าง ขาข้างที่จะบริหารเหยียดตรงแล้วค่อย ๆ ยกสูงจากพื้น ประมาณ 1 คืบ เกร็งค้างไว้ นับ 1-10 แล้วค่อยๆ วางขาลงพื้น ทำซ้ำ 5 ครั้ง (นับเป็น 1 รอบ ทำอย่างน้อยวันละ 2 รอบ หลังตื่นนอนและก่อนนอน)

การลดน้ำหนัก ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรลดน้ำหนักให้ใกล้เคียงน้ำหนักมาตรฐานหรืออย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว จะเป็นการชะลอไม่ให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในอนาคตได้

การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบเป็นเวลานาน ๆ นั่งคุกเข่า และนั่งยอง ๆ รวมถึงไม่แนะนำการใช้อุปกรณ์พยุงเข่าตลอดเวลา

การใช้อุปกรณ์ผ่อนแรง เช่น การใช้ไม้เท้าช่วยเวลาเดิน โดยถือไม้เท้าด้านเดียวกันกับขาที่ดี หรือการขึ้น-ลงบันได ควรก้าวขาข้างดีนำขึ้นก่อน แต่หากก้าวลงบันได ก้าวขาข้างที่ปวดเข่าลงก่อน เป็นต้น

แม้ว่าโรคข้อเข่าเสื่อมจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามความเสื่อม และอายุที่มากขึ้น แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับคนวัยทำงาน หรือเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว จึงควรหันมาให้ความใส่ใจและดูแลเข่าของเรา ก่อนที่ “โรคข้อเข่าเสื่อม” จะมาเยือน

@ @ @ @ @ @ @ @

แหล่งข้อมูล

รศ. ดร.สุภาพ อารีเอื้อ สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล