หลังจากที่ได้รู้จักภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่แล้ว สัปดาห์นี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นกับทารกอีก ดังนี้
ภาวะทารกพิการแต่กำเนิด
เป็นภาวะที่โอกาสพบได้ไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตามเมื่อพบแล้วอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลกับครอบครัวเนื่องจากบางภาวะมีโอกาสทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือทุพพลภาพได้ ภาวะทารกพิการแต่กำเนิดนี้รวมทั้งความผิดปกติที่โครงสร้างของทารกเองและโครโมโซมผิดปกติ ที่เราได้ยินกันบ่อยคือ ภาวะกลุ่มอาการดาวน์หรือดาวน์ซินโดรม พบความเสี่ยงสูงขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติครอบครัว หรือมีอายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามคนที่อายุน้อยก็มีโอกาสมีลูกที่ผิดปกติได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้วก็ควรรีบไปฝากครรภ์ทันที เพราะจะมีการตรวจเลือดและการตรวจอัลตราซาวนด์ช่วงกึ่งกลางของการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูว่าทารกมีอวัยวะหลักๆ ครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งภาวะพิการบางอย่าง ก็สามารถตั้งครรภ์ต่อได้ และวางแผนดูแลรักษาเด็กหลังคลอด แต่บางภาวะก็อาจจะมีความรุนแรงถึงขั้นมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์ หรือเสียชีวิตทันทีหลังคลอด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ควรรีบไปฝากครรภ์ เพื่อแพทย์จะได้ดูแลให้การวินิจฉัย และให้การดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที
...
ภาวะทารกโตช้า
ภาวะนี้ มักจะพบในคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต รวมถึงโรคประจำตัวบางโรคที่ทำให้รกทำงานได้ไม่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตช้า โดยจะแสดงให้เห็นประมาณปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3
คุณแม่ที่ไปฝากครรภ์เป็นระยะๆ แพทย์ก็จะตรวจวัดขนาดของยอดมดลูกว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่ หากสงสัยว่าทารกโตช้าในครรภ์ก็จะต้องตรวจวินิจฉัยด้วยอัลตราซาวนด์ และหากผลตรวจออกมาว่าทารกโตช้า ก็จะมีการตรวจติดตามเป็นระยะๆ มากขึ้น เพื่อดูว่าเมื่อไรที่ทารกหยุดการเจริญเติบโต ก็จะให้คลอดออกมา แล้วมาเลี้ยงต่อข้างนอก ดีกว่าเสี่ยงอยู่ในครรภ์ เพราะมีโอกาสที่จะเสียชีวิตในครรภ์ได้
การดูแลตนเอง
คุณแม่ที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
• หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาประจำว่าโรคที่เป็นอยู่สงบหรือยัง สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ โดยเฉพาะยาที่กินอยู่ เพราะยาบางตัวก็ไม่ควรกินระหว่างตั้งครรภ์ เพราะมีผลกระทบต่อเด็กในครรภ์
• เมื่อรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์แล้วก็ควรรีบมาฝากครรภ์ทันที ไม่ต้องรอให้ผ่านไปหลายสัปดาห์แล้วค่อยไปฝาก และระหว่างฝากครรภ์ ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อแพทย์จะได้คอยดูแลทั้งคุณแม่และทารกอย่างใกล้ชิด
• กินอาหารที่ดี มีประโยชน์ โดยควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
• สามารถออกกำลังกายตามที่ร่างกายสามารถทำได้
• ไม่ควรกินยาสมุนไพร ยาเสริมต่างๆ รวมถึงยาปฏิชีวนะเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
@@@@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
อ. พญ.ชยดา ตั้งชีวินศิริกุล สาขาวิชาเวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล