ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ความกลัว ความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องที่หลายคนกังวล โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวการเสียชีวิตด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ที่สันนิษฐานว่า น่าจะเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ยิ่งทำให้ความไม่แน่ใจต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกามีมากขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนกลับไปดูข้อมูลก่อนหน้านี้ การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 มีผลกระทบต่ออวัยวะระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง เป็นเรื่องที่แพทย์ทั่วโลกตระหนักดีอยู่แล้ว

แต่ข้อมูลล่าสุดจากผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาระบุว่า นอกจากโควิด-19 จะทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโควิด-19 ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

งานวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ตีพิมพ์ในวารสาร Thrombosis Research เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า จากการศึกษาผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 184 ราย ที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก หรือไอซียู (ICU) พบว่า ผู้ป่วย 31% มีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง

...

แม้ผู้เชี่ยวชาญจะไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า ภาวะแทรกซ้อนจากโควิด-19 อย่างลิ่มเลือดอุดตันนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใด แต่ก็มีคำอธิบาย พอเข้าใจได้ว่า ในทางทฤษฎีแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการที่ต้องรักษาตัวอยู่แต่ในห้องไอซียู และร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ร่างกายเกิดอักเสบรุนแรง

Harlan Krumholz แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ประจำโรงพยาบาลเยล-นิวเฮเวน (Yale-New Haven) ให้ข้อมูลกับเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) ว่า “เมื่อระบบภูมิคุ้มกันพบผู้บุกรุกอย่างไวรัสโคโรนา 2019 ก็จะเริ่มกระบวนการสร้างลิ่มเลือดหรืออาการเลือดออกเพื่อต่อสู้กับไวรัส โดยอาศัยปัจจัยการแข็งตัวของเลือด

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ พบได้ในผู้ป่วยอีโบลา ต่างกันตรงที่ผู้ป่วยอีโบลาส่วนใหญ่จะเกิดอาการเลือดออก ในขณะที่ผู้ป่วยโควิด-19 มักพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่า

ซึ่งก็มีผู้ป่วยบางรายที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ขาจนต้องตัดขา แม้จะใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแล้ว

นิค คอร์เดโร (Nick Cordero) นักแสดงละครบรอดเวย์ชื่อดัง ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโทนีอวอร์ด (Tony Award) บอกว่า ความน่ากลัวของภาวะลิ่มเลือดอุดตันเพราะโควิด-19 ยังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ แตก และถ้าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีปัญหาโรคไตถึงขั้นต้องฟอกเลือด หรือฟอกไต อาจจะยิ่งเสี่ยงอันตรายร้ายแรงมากขึ้น

ซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า เครื่องฟอกไตของผู้ป่วยโควิด-19 บางรายมีปัญหาเนื่องจากลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดของเครื่องฟอกไต นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า หากผู้ป่วยโควิด-19 มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดอุดตัน ก็จะยิ่งมากขึ้นด้วย

ล่าสุด มีข่าวแทบไม่เว้นแต่ละวัน ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนต้าน Covid-19 จากแอสตราเซเนกา ที่ทดลองในคน ว่าปลอดภัย แต่กลับพบว่า มีชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยที่ได้รับวัคซีนดังกล่าว มีปัญหาลิ่มเลือดอุดตันและเลือดออกผิดปกติ ส่งผลให้หลายประเทศระงับการใช้วัคซีนไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนระหว่างรอผลการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน

...

อย่างไรก็ตาม แดเนียล แซลมอน ผอ.สถาบันเพื่อความปลอดภัยวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ บอกว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันพบได้ตามปกติในประชาชนทั่วไป และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน

สเตฟาน มอลล์ นักโลหิตวิทยาและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ยกตัวอย่างว่า ชาวอเมริกันมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดหรือ เท้าหรือส่วนอื่นๆ ราว 300,000-600,000 คนต่อปี หรือราว 1,000-2,000 คนต่อวัน สหรัฐฯมีประชากรราว 253 ล้านคน ซึ่งถ้าชาวอเมริกันฉีดวัคซีนวันละ 2.3 ล้านคน หมายความว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 1% ได้รับวัคซีนในแต่ละวัน และเมื่อคำนวณต่อไปจะพบว่า ในจำนวนคนที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 1,000-2,000 คนต่อวัน มีเพียง 1% หรือ 10-20 คนต่อวันเท่านั้นที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนซึ่งเป็นอัตราปกติ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน

เดวิด วอห์ล ผู้อำนวยการคลินิกวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา เผยว่า การใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาจริงในประเทศอังกฤษกับประชากร 9.7 ล้านคนเมื่อเดือนที่แล้วพบว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นน้อยมากกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเท่าๆกับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แต่พบภาวะเกล็ดเลือดต่ำผิดปกติในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกามากกว่าไฟเซอร์

ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดอุดตันและภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non–Communicable Diseases)