ถึงวันนี้คงไม่ต้องรอให้องค์การอนามัยโลกหรือผู้เชี่ยวชาญที่ไหนมาบอกเรา เราก็คงรู้กันแล้วว่า โควิด-19 คงอยู่กับเราไปอีกนานมากหรือหลายปี

ทั้งนี้จะอยู่แบบควบคุมได้ให้โผล่ได้กะปริบกะปรอย หรือจะแบบโผล่มาทีเป็นกระจุกใหญ่ๆแพร่ไปทั่ว จะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับลักษณะของเชื้อ การปฏิบัติตัวของมนุษย์ ว่าระวังตัวกันแค่ไหนเพราะถ้าปล่อยให้มีการติดและแพร่เชื้อกระเจิดกระเจิงจะถือว่าเป็นการสมยอมให้ไวรัสมีการพัฒนาตนเองในทางเก่งกาจขึ้นไปอีก และขึ้นกับวัคซีนว่าจะตามทันการวิวัฒนาการของไวรัสหรือไม่

ซึ่งนาทีนี้ ในวันวาเลนไทน์พอดี วัคซีนที่ว่าเก่งแสนดีประสิทธิภาพเกือบเต็ม 100 แต่เมื่อเจอกับกลุ่มผ่าเหล่าผ่ากอ หรือวาเรียนท์ (variants) เชื้อสายแอฟริกาหรือเชื้อสายผู้ดีอังกฤษ

ปรากฏว่าเป็นง่อยกันทั้งหมด และมีทีท่าว่าเชื้อสายอังกฤษจะงอกเงยในอเมริกาอย่างแพร่หลาย นัยว่า ผู้ติดเชื้อสายอังกฤษทวีจำนวนขึ้นเป็นสองเท่าทุกๆ 10 วัน และต่อไปจะมีเชื้อสายหน้าตาผิดเพี้ยนอีกมากมายแค่ไหน (เรื่องทิศทางที่มาของสายวาเรียนท์ต่างๆ อ่านง่ายๆในหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564)

...

ทั้งนี้รหัสพันธุกรรมที่ผันแปรไป จะกำหนดรูปร่างของโปรตีนซึ่งมีส่วนอย่างมากในการเกี่ยวข้องกับการเกาะติดกับเซลล์มนุษย์ว่าทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นไปอีกหรือไม่และในส่วนอื่นของไวรัสจะกำหนดให้เก่งกาจแค่ไหนในการเพิ่มจำนวน

และขณะนี้เป็นที่ทราบแล้วว่าไวรัสสามารถเข้าไปรบกวนระบบพลังงานของเซลล์ที่เกี่ยวพันกับสภาพเครียดอีอาร์ (ER stress) และไมโตคอนเดรีย

ซึ่งไวรัสทุกเชื้อสามารถประพฤติปฏิบัติในลักษณะนี้รวมทั้งไวรัสโคโรนาตัวก่อนหน้าโควิด-19 ด้วยซ้ำ แต่โควิด-19 ดูจะเก่งที่สุดและเป็นข้ออธิบายว่าทำไมคนที่ติดเชื้ออ่อนเพลีย ป้อแป้ หมดกำลังวังชาและแม้จะรักษาจนเชื้อหายไปหมด

แต่ก็ยังมีสุขภาพทรุดโทรมไปแทบทุกอวัยวะหรือไม่ก็ยังมีอาการต่อเนื่องไปอีก แม้ว่าจะหายแล้วเป็นเวลานานกว่าสองสามเดือนแล้วก็ตาม ถ้ารักษาช้าไป

กลับมาที่ต้นตอของโควิด-19 ความจริงเป็นที่ระแคะระคายว่าจะเกิดตัวใหม่นี้ตั้งแต่ประมาณปี 2003 และ 2004 โดยนักวิทยาศาสตร์ประเทศจีนเข้าไปสำรวจค้างคาวที่แพร่เชื้อซาร์ส ปรากฏว่าค้างคาวเหล่านี้มีไวรัสหน้าตาคล้ายซาร์สอยู่หลายตัว และเป็นที่กริ่งเกรงว่าน่าจะมีการควบรวมประกอบร่างกลายเป็นตัวใหม่ขึ้นมาอีก

การศึกษาในประเทศเขมร โดยนักวิทยาศาสตร์สถาบันปาสเตอร์ โดยดูเชื้อไวรัสจากค้างคาวมงกุฎ (Rhinolo phus) ที่สะสมได้ในปี 2010 พบว่า ค้างคาว R.shameli ก็มีเชื้อไวรัสที่มีลักษณะเป็นแม่พิมพ์หรือจะเรียกว่าเป็นตัวปั๊มของโควิด-19 และรายงานนี้ตีพิมพ์ในปี 2020

ในปี 2012 ในประเทศจีนมีคนงานในเหมืองทองแดงเสียชีวิตด้วยปอดบวมสามราย ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร แต่คณะนักวิทยาศาสตร์เข้า ไปสำรวจแล้วพบว่ามูลของค้างคาวที่ชื่อ R.affinis มีเชื้อคล้ายคลึงกับโควิด-19 มากที่สุดโดยมีส่วนที่สามารถจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ได้

ไวรัสตัวนี้จะเรียกเป็นตัวแม่ของโควิด-19 ก็ว่าได้ และตั้งชื่อเป็น RaTG13 ตามชื่อสายพันธุ์ของค้างคาว และตามสถานที่เมืองที่พบ (Tongquan) ตามด้วยเวลา

เช่นกัน ตัวอย่างที่ได้จากสัตว์ต่างๆ และมูลค้างคาวที่เก็บในช่วงปี 2013 ถึง 2014 และได้ตีพิมพ์ในปี 2020 จากการสำรวจ 70 แห่งทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามพบไวรัสโคโรนา ที่ไม่ใช่โควิด-19 แต่เป็นไวรัสทั้งในกลุ่มอัลฟ่า เบต้าและแกมมา โดยพบได้ 58 จาก 70 แห่ง

ทั้งนี้ในที่มีการขายหนูเป็นอาหารครบทั้ง 24 แห่งที่ตรวจและในสถานที่ที่เลี้ยงสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ จะพบ 17 ใน 28 แห่งและในที่ที่มีค้างคาวและเก็บมูลมาทำปุ๋ยครบ 16 ใน 17 แห่ง
ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่ามีไวรัสโคโรนาที่แม้ไม่ใช่ โควิด-19 แต่เตรียมพร้อมที่จะรับไวรัสโคโรนาที่เป็นแม่พิมพ์จากค้างคาวเข้ามาผสมควบรวมประกอบร่างใหม่ได้

...

และในปี 2020 ในประเทศจีนก็ยืนยันว่ามีไวรัสที่เป็นแม่พิมพ์หรือตัวปั๊มในค้างคาวมงกุฎ R malayanus และตั้งชื่อว่า RmYN02 จากมณฑลยูนนาน

นอกจากนั้นก็พบว่าไวรัสในตัวลิ่นหรือตัวนิ่ม ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับไวรัสที่พบในค้างคาว ในขณะเดียวกันก็ยังพบเชื้อไวรัสที่คล้ายคลึงใกล้เคียงกับโควิด-19 มากที่สุดโดยมีท่อนที่สามารถจับกับตัวรับและเข้ามาติดเชื้อในมนุษย์ได้คือ RmTG13และในปี 2020 รายงานจากญี่ปุ่นเอง ก็พบไวรัสที่เหมือน YN02 จากค้างคาว R.cornatus.

หมอดื้อ