“ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดหลังจากการเดินทางโดยเครื่องบิน” ได้รับรายงานครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1956 หลังจากนั้นได้มีรายงานและการศึกษาต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย ภาวะนี้มีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ ภาวะลิ่มเลือดที่เกิดจากการโดยสารชั้นประหยัด (economy class syndrome/coach class syndrome) หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการเดินทาง (traveler’s thrombosis)

ปัจจุบันเชื่อว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการเดินทางโดยเครื่องบินและการเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ โดยพบผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดเสียชีวิต 25 คนในล้านคน หลังจากการเดินทางโดยเครื่องบิน

ปัจจุบันมีผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีมีผู้เดินทางโดยเครื่องบินประมาณ 1.5 ล้านคน มีผู้คาดการณ์ว่า จำนวนผู้เดินทางจะมากขึ้นเป็น 2 เท่าในปี ค.ศ.2015 แม้ว่าจะมีการเดินทางลดลงจากโรคระบาดในปัจจุบัน แต่คาดว่าอีกไม่นานการเดินทางน่าจะกลับมาเหมือนเดิม

การเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดหลังจากการเดินทางโดยเครื่องบิน จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะสามารถก่อให้เกิดพยาธิภาวะแก่ผู้ป่วย ซึ่งอาจจะรุนแรงถึงเสียชีวิต

ปัจจัยเสี่ยง

1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางโดยเครื่องบิน ได้แก่ การนั่งเครื่องบิน ซึ่งแคบและมีบริเวณจำกัด การเคลื่อนไหวน้อย หรือไม่ได้เคลื่อนไหวการเดินทางเป็นเวลานาน (โดยเฉพาะเมื่อนานมากกว่า 8 ชั่วโมง) การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำให้ปัสสาวะออกมาก การดื่มน้ำไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ การที่มีความกดดันโดยตรงบริเวณหลอดเลือดดำที่ขา การมีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ภาวะในเครื่องบินมีความชื้นต่ำ การนั่งเครื่องบินทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะเครียดและขาดออกซิเจน ซึ่งมีผลทำให้กลไกการแข็งตัวของเลือดทำงานมากกว่าปกติ

...

2. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้ป่วย ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลังการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำมาก่อน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี การที่เพิ่งได้รับการบาดเจ็บหรือการผ่าตัด การตั้งครรภ์ ระยะหลังคลอดบุตร การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดกิน ซึ่งมีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ การมีโรคหลอดเลือดขอด โรคหัวใจ โรคอ้วน ไข้ ท้องเสีย อาเจียน และการสูบบุหรี่

ทั้งนี้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง อาจจะมีอิทธิพลเหนือกว่าปัจจัยด้านตัวผู้ป่วยในการเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำหลังจากเดินทางโดยเครื่องบิน

การรักษา

การรักษาภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยจะได้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งจะป้องกันการเพิ่มของลิ่มเลือดภายในหลอดเลือด แม้ว่ายาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดจะไม่สามารถทำลายลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป แต่สามารถป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นแล้วมีขนาดใหญ่ขึ้น และลดการเกิดลิ่มเลือดใหม่

โดยทั่วไปแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาเฮพารินทางหลอดเลือดดำ หรือฉีดยาเฮพารินโมเลกุลต่ำเข้าใต้ผิวหนังเป็นเวลา 5-10 วัน และร่วมกับการกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดกิน ชื่อ ยาวาร์ฟาริน (warfarin) หรือคูมาดิน (coumadin) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ปัจจุบันมียาชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียม และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกน้อยกว่า เช่น ยา Rivaroxaban

แพทย์และเภสัชกรจะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวและการสังเกตผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเหล่านี้ เนื่องจากหากคนไข้ได้รับยาในขนาดที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้ แพทย์จะทำการตรวจติดตามระดับการแข็งตัวของเลือด เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป

การป้องกัน

1. ควรดื่มน้ำให้มาก โดยแนะนำให้ดื่มอย่างน้อย 1 แก้ว ทุกๆ 2 ชั่วโมง

2. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำทางปัสสาวะมากจนเกิดภาวะขาดน้ำ

3. ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่คับหรือแน่นเกินไป โดยเฉพาะบริเวณขาและเอว

4. ไม่ควรวางกระเป๋าเดินทาง หรือสิ่งของไว้ด้านหน้า เพราะจะจำกัดการเหยียดขา

5. ควรบริหารกล้ามเนื้อขาระหว่างที่นั่งโดยสาร โดยควรเหยียดขาเป็นเวลา 2 นาที ทุกๆ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ควรเคลื่อนไหวร่างกาย หรือลุกจากที่นั่งเป็นเวลา 3 นาที ทุกๆ ชั่วโมง

6. ในการเดินทางที่มากกว่า 6 ชั่วโมง แนะนำให้ใช้ถุงน่องที่มีแรงกดไล่ระดับ ระดับที่ใส่ใต้เข่า หรือต้นขา โดยมีความดันบริเวณข้อเท้า 15-30 มิลลิเมตรปรอท การใส่ถุงน่องที่มีแรงกดนี้สามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะหลอดเลือดดำลึกมีลิ่มเลือดและขาบวมหลังการเดินทางโดยเครื่องบินได้

...

การป้องกันโดยวิธีอื่น ได้แก่

การใช้ยา โดยควรพิจารณาในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่ไม่สามารถใช้ถุงน่องที่มีแรงกดไล่ระดับได้ การใช้ยาเฮพารินโมเลกุลต่ำ และ Rivaroxaban อาจจะมีประโยชน์ในการป้องกัน แต่ต้องการหลักฐานยืนยันมากกว่านี้

การกินยาแอสไพริน ยังไม่พบว่ายาแอสไพรินมีประโยชน์ในการป้องกันภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำที่เกิดขึ้นหลังจากเดินทางโดยเครื่องบิน แต่กลับก่อให้เกิดผลเสียจากผลข้างเคียงของยา โดยเฉพาะผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร

@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

ศ.นพ.จุมพล วิลาศรัศมี ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล