ในขณะที่ผู้คนทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกกับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (SARs-CoV-2) หรือ COVID-19 แต่สำหรับชาว ตริสตัน ดา กูนยา (Tristan da Cunha) ราว 300 คน บนเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟ ในพิกัด กึ่งกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก กลับยังคงมีชีวิตตามปกติ เหตุเพราะที่นี่เป็นดินแดนปลอดโควิด-19 อย่างแท้จริง

เพราะเป็นเกาะที่อยู่ห่างไกลที่สุดในโลก ห่างจากแผ่นดินที่ใกล้ที่สุดคือ Saint Helena 1,500 ไมล์ South Africa 1,750 ไมล์ และ South America 2,088 ไมล์

การเดินทางไปกลับและการขนส่งสินค้าไปยังตริสตัน ดา กูนยา มีเพียงทางเดียว คือ ทางเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7 วัน ส่วนใหญ่แล้วการขนส่งโดยส่วนใหญ่อาศัยเรือประมงจากแอฟริกาใต้ที่เดินทางมาที่เกาะนี้เป็นประจำ

ตริสตัน ดา กูนยา ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักเดินทางชาวโปรตุเกส ชื่อว่า ตริสเตา ดา กูนยา เมื่อปี 1506 แต่เนื่องจากพื้นที่เข้าถึงและนำเรือเข้าจอดบนฝั่งลำบากมาก ในเวลานั้น จึงตั้งชื่อเกาะใหญ่แห่งนี้ว่า Ilha de (เกาะของ) Tristão da Cunha ซึ่งต่อมาอังกฤษได้เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะ Tristan da Cunha ในฐานะที่เป็นดินแดนโพ้นทะเลในความครอบครองของอังกฤษ หรือ British Overseas Territory

...

เมืองหลวงของที่นี่ ชื่อว่า Edinburgh of the Seven Seas และเพราะมีชื่อพ้องกับ Edinburgh เมืองหลวงของสกอตแลนด์ในปี ค.ศ.2005 Royal Mail หรือไปรษณีย์อังกฤษ จึงได้กำหนดรหัสไปรษณีย์ของ Tristan da Cunha เป็น TDCU 1ZZ ด้วยเหตุผลว่า ที่ผ่านมาจดหมายมักจะสูญหายเพราะไม่มีรหัสไปรษณีย์ และชื่อเมืองหลวงยังไปคล้ายกับเมืองหลวงของสกอตแลนด์ด้วย 

Tristan da Cunha เป็นเกาะที่มีสัณฐานกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยเพียง 11 กิโลเมตร และมีพื้นที่เกาะทั้งหมดประมาณ 98 ตารางกิโลเมตร หลังการค้นพบนานถึง 137 ปี ลูกเรือ Heemstede ขึ้นเหยียบแผ่นดินบนเกาะ Tristan da Cunha เป็นครั้งแรก แต่ก็ยังไม่มีการสำรวจ กระทั่งผ่านไปนานถึง 124 ปี จึงมีการสำรวจหมู่เกาะเหล่านี้เป็นครั้งแรก โดยเรือรบฝรั่งเศส L’Heure du Berger ในปี ค.ศ.1767 แต่กว่าที่จะรายงานการสำรวจก็ใช้เวลาหลังจากนั้นนานถึง 26 ปี

ปี ค.ศ. 1811 โจนาธาน แลมเบิธ คือประชากรคนแรกที่ตั้งถิ่นฐานบนเกาะ เขาแล่นเรือมาจาก Salem รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา แล้วประกาศว่า หมู่เกาะเหล่านี้เป็นสมบัติส่วนตัวพร้อมกับเปลี่ยนชื่อเกาะ เป็นรีเฟรชเมนต์ แต่แค่เพียงปีเดียว แลมเบิธก็ประสบอุบัติเหตุทางเรือเสียชีวิต และมีการเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อเดิมของเกาะในปี ค.ศ.1816

แม้จะเป็นหมู่เกาะที่อยู่ไกลสุดขอบโลก แต่ก็มีความสำคัญมากทางยุทธศาสตร์ ตริสตัน ดา กูนยา จึงถูกอังกฤษยึดกลับมา ในช่วงที่ความรุ่งเรืองของโปรตุเกสเริ่มตกต่ำ โดยกองทัพเรืออังกฤษได้ใช้เกาะนี้เป็นฐานทัพลับในการตรวจสภาพภูมิอากาศลับและสถานีวิทยุในอุโมงค์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ดูแลเกาะ Tristan da Cunha ได้พิมพ์หนังสือพิมพ์ของตนเองขึ้น ชื่อว่า The Tristan Times

...

สภาพแวดล้อมบนเกาะ นอกจากบ้านเรือนประชาชนที่ปลูกสร้างอย่างเรียบง่ายเพียงไม่กี่หลังตามจำนวนประชากรแล้ว ในส่วนของราชการมีอาคาร 2 ชั้นเพียงแห่งเดียวบนเกาะชั้นล่างให้บริการ Internet Cafe บางครั้งเรียกว่า Whitehall หรือ H’admin Building เป็นที่ทำงานของผู้บริหารซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าการรัฐ St Helena และผู้ดูแลด้านการคลัง สำนักงาน และหอการค้า โดยการประชุมสภาจะจัดขึ้นที่นี่ มีสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งเพียง 8 คน และสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้ง 3 คน

Tristan da Cunha มีกฎหมายของตนเอง แต่บางครั้งก็นำกฎหมายของ St Helena มาบังคับใช้ในบางกรณีที่มีปัญหา โดยอัยการสูงสุด คือ อัยการของ St Helena มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเกาะ

ทั้งเกาะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานเต็มเวลาเพียง 1 นาย และตำรวจพิเศษอีก 3 นาย ระบบกฎหมาย ถือตามจารีตประเพณีแบบอังกฤษ มีการใช้กฎหมายตามลายลักษณ์อักษรน้อยมาก

ไม่มีสกุลเงินเป็นของตัวเอง ที่นี่ใช้สกุลเงินปอนด์ของอังกฤษ การนำเข้าและส่งออกสินค้าทุกอย่างบนเกาะรวมทั้งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ต้องใช้เรือเป็นหลัก

...

สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยบนเกาะ มีน้ำ ไฟฟ้า และการสุขาภิบาล การดูแลสุขภาพฟรี โดยมีสถานที่สำคัญๆคือ โบสถ์ St Mary กับ St Joseph, สุสาน Tristan, โรงเรียน St Mary ที่ห่างไกลที่สุดในโลก, สนามกีฬาเด็กของหมู่บ้าน Tristan’s Village Children’s Playground, โรงพยาบาล Camogli Hospital, ท่าเรือ Calshot Harbour, ห้างสรรพสินค้า Edinburgh’s Retail Therapy ที่ไม่เคยปิด, ไปรษณีย์, พิพิธภัณฑ์, กระท่อมฟางท้องถิ่น, โรงไฟฟ้า และโรงผลิตน้ำประปา รวมทั้งกอล์ฟคลับด้วย

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ตริสตัน ดา กูนยา ไม่มีตัวเลขคนป่วย คนติดเชื้อ แม้แต่คนเดียว ถือเป็นดินแดนที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆจาก COVID-19 เลยแม้แต่นิดเดียว.