เทรนด์รักสุขภาพและใส่ใจในคุณภาพชีวิตที่ดีฮิตฮอตมาตั้งแต่ปี 2019 และจะยิ่งมีดีกรีเข้มข้นขึ้น เมื่อเปิดศักราชใหม่เข้าสู่ปี 2020 เพราะผู้บริโภคยุคดิจิทัลไม่เพียงแต่จะคำนึงถึงสุขภาพของตัวเอง แต่ยังใส่ใจในสุขภาพของโลกด้วย

เว็บไซต์ทรงอิทธิพลด้านอาหารของโลกอย่าง “FoodBev Media” จัดอันดับเทรนด์อาหารมาแรง ปี 2020 โดยยกให้ “ขนมขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพ” เป็นเทรนด์ฮอตมาแรง ท่ามกลางชีวิตที่เร่งรีบอย่างที่เห็น

ผู้บริโภคยุคใหม่มองหาของทานเล่นที่อิ่มอร่อยทันใจ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีประโยชน์ต่อร่างกาย และไม่ทำร้ายสุขภาพด้วย หลายปีมานี้ตลาดขนมขบเคี้ยวเติบโตรวดเร็วมาก จากผลการสำรวจของมินเทล คอนซูเมอร์ สแนคกิ้ง ยูเค ปี 2019 บ่งชี้ว่า 66% ของผู้ใหญ่ต้องกินขนมขบเคี้ยวอย่างน้อยวันละครั้ง กระนั้น เทรนด์ขนมขบเคี้ยวกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไป จากขนมขบเคี้ยวที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต, โซเดียม, น้ำตาล และไขมัน ผู้บริโภคยุคใหม่หันมานิยมขนมขบเคี้ยวที่มีคุณค่าด้านโภชนาการแทน โดยเฉพาะ “โปรตีนบาร์” กลายเป็นอาหารว่างยอดฮิตสำหรับคนรักสุขภาพ เพราะทั้งอร่อย, มีประโยชน์ และแคลอรีต่ำ

...

อีกหนึ่งเทรนด์เด่นก็ต้อง “Flexitarian” การปรุงอาหารด้วยเนื้อสัตว์เทียมจากพืช เพื่อเอาใจผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ก็ไม่ใช่ชาวมังสวิรัติเต็มตัว เริ่มฮิตฮอตมาจากฝั่งอเมริกา และมีแนวโน้มโตเร็ว เพราะผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เทียมจากพืชไม่เพียงแต่จะมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ยังถูกพัฒนาให้มีรสชาติอร่อยไม่แพ้เนื้อสัตว์จริงๆ ฟาสต์ฟู้ดชั้นนำหลายแห่งของอเมริกาก็มีแฮมเบอร์เกอร์เนื้อเทียมไว้บริการ แถมยังขายดิบขายดีซะด้วย

ก็เพราะผู้บริโภคยุคใหม่รักตัวเองพอๆกับที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงเกิดเทรนด์ “ลดขยะเหลือทิ้งจากอาหาร” โดยมีการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย ตั้งเป้าลดขยะจากอาหารลง 50% ภายในปี 2030 ขณะที่สกอตแลนด์มีแผนลดขยะเหลือทิ้งจากอาหารลง 1 ใน 3 ภายในปี 2025 ผลจากการสำรวจพบว่าในแต่ละปีทั่วทั้งโลกมีขยะจากอาหารเหลือทิ้งมากถึง 1,300 ล้านตัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านตัน ภายในปี 2025 โดย 44% ของขยะเหลือทิ้งมาจากผักและผลไม้เน่าเสีย

หลายปีมานี้ “น้ำตาล” กลายเป็นจอมวายร้ายทำลายสุขภาพ วงการอาหารโลกจึงมุ่งคิดค้น “นวัตกรรมทดแทนความหวานที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ”

อังกฤษเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มน้ำอัดลมตั้งแต่ปี 2018 ขณะที่หลายบริษัทพยายามปรับปรุงสูตรอาหารที่ลดปริมาณความหวานลง เช่น ผู้ผลิตช็อกโกแลตเจ้าใหญ่ “Cadbury” ประกาศความสำเร็จคิดค้นสูตรช็อกโกแลตที่มีน้ำตาลลดลง 30% นอกจากนี้ ในวงการอาหารโลกยังมองหาทางเลือกใหม่ที่สามารถให้ความหวานแทนน้ำตาล แต่ไม่ทำร้ายสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสารสกัดจากหญ้าหวาน, มันหวาน, ทับทิม และอินทผลัม.