Credit : Michael Monaghan, Trinity College Dublin

เมื่อหัวใจวายเกิดขึ้นกล้ามเนื้อในเนื้อเยื่อหัวใจอาจมีรอยแผล การรักษาด้วยยาจะบรรเทาความเสียหายแต่ไม่ได้นำไปสู่การสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ซึ่งนักวิจัยมีความพยายามที่จะใช้วัสดุเทียมเพื่อซ่อมแซมหรือสร้างชิ้นส่วนที่เสียหาย แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีการมุ่งเน้นไปที่คุณสมบัติทางไฟฟ้าที่จำเป็นสำหรับการทำงานของหัวใจ

ล่าสุด มีรายงานในวารสารเอพีแอล ไบโอเอนจิเนียริง โดยผู้เขียนคือไมเคิล โมนาแกน จากตรินิตี้ คอลเลจ ดับลิน ในไอร์แลนด์ เผยถึงการใช้วัสดุชีวภาพที่เป็นสื่อกระแสไฟฟ้าเพื่อไปใช้ซ่อมแซมและรักษาหัวใจ นักวิจัยพิจารณาว่าสามารถใช้วัสดุเหล่านี้ในการสร้างแกนซึ่งเซลล์หัวใจอาจจะงอกขึ้นใหม่ รวมทั้งสร้างแผ่นนำไฟฟ้าเพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย และผลิตไฮโดรเจลแบบฉีดที่จะส่งยารักษาไปยังบริเวณเฉพาะเจาะจงของหัวใจ

ทั้งนี้ วัสดุแปลกปลอมใดๆที่ถูกนำเข้าสู่ร่างกายจะต้องเข้ากันได้ทางชีวภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นพิษในระยะสั้นและระยะยาว แต่ก็มีสารบางชนิดอาจให้ผลประโยชน์ เช่น โลหะคาร์ไบด์ (metal carbides) อย่างแม็กซีน (MXene) ที่อาจต้านการอักเสบ แต่นักวิจัยก็พบว่าโพลิเมอร์ที่ใช้นำไฟฟ้าชื่อ PEDOT อาจเหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือสร้างแกนไฟฟ้า เนื่องจากสามารถผลิตเป็นโครงสร้าง 3 มิติได้โดยไม่ต้องใช้วัสดุชนิดอื่นๆมาสนับสนุน แต่ก็จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นพิษของโพลีเมอร์ชนิดดังกล่าวเช่นกัน.