กลับมาในเนื้อหาตอนสองจะได้นำเรื่องกัญชาโดยเรียบเรียงจาก บทความเรื่องอนาคตของอายุรกรรมประสาทกับกัญชาเพื่อการรักษา “Cannabis Therapeutics and the Future of Neurology” ใน frontiers in Integrative Neuroscience
โรคแรกที่นำมาพูดถึงคือลมชัก (epilepsy) เป็นโรคซึ่งได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้กัญชาในการช่วยลดความถี่และความรุนแรงของโรคได้ มีการทดลองในหนูตั้งแต่เมื่อปี 1960 ซึ่งพบว่า THC มีฤทธิ์หยุดการชักได้ดีที่สุด (ED50 80 mg/kg) รองลงมาคือ CBD (ED50 120 mg/kg) และสุดท้ายตัว THCA-A (200 mg/kg)
ซึ่งรู้จักกันรวมๆว่าทำงานร่วมกับสาร terpenoid หลังจากนั้นพบว่า THC มีฤทธิ์ต้านการชักได้ดีกว่ายากันชักบางตัว (pheno-barbital หรือ phenytoin) เสียอีก
ถัดมาในปี 1979 จุดสนใจตกมาที่ CBD เพราะมีฤทธิ์ต้านการชัก ถึงจะไม่ดีเท่า THC แต่ไม่มีผลข้างเคียงทางจิต นอกจากการต้านการชัก ในทุกๆครั้งที่ชักจะมีความเสียหายเกิดขึ้นในสมอง การกระตุ้นระบบ endocannabinoid ในสมองนั้นจะช่วยลดความเสียหายของเซลล์สมองได้ด้วยกลไกการลด glutamate excitotoxicity และจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถคุมอาการชักได้สนิท
...
การเริ่มใช้ในคนชักในยุคนี้มีปรากฏในบทความเริ่มตั้งแต่ในช่วงปี 2003 เป็นต้นมา เป็นการใช้ในเด็กที่มีสมองผิดปกติมาตั้งแต่เกิด เป็นรายๆไปมาถึงในปี 2010 เมื่อเกิดความสนใจจากบริษัทยาในการนำ CBD มาเป็นยากันชัก ทำเป็นโครงการที่ใช้ CBD ในเด็กที่มีอาการชักไม่หยุดจากโรคทางสมอง (Dravet syndrome)
จึงทำให้เป็นจุดสนใจของคนทั่วๆไป ถึงขนาดที่บางครอบครัวยอมย้ายบ้านมาที่รัฐโคโลราโดซึ่งเปิดให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายก่อนที่อื่น
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความสงสัยอยู่ในใจหลายๆคน เพราะได้ยินมาตลอด ว่ากัญชาเป็นสิ่งไม่ดี เป็นยาเสพติด จน ณ ขณะนี้มีบริษัทยาผลิตสารสกัด CBD ออกมาชื่อ Epidiolex และมีการทดลองในปี 2016 พบว่า การใช้ CBD ช่วยลดการชักได้มากกว่า 55% และช่วยทำให้การดูแลเด็กที่เป็นโรคลมชักจากสมองผิดปกติง่ายขึ้น (Dravet and Lennox-Gastaut Syndrome) จนในปี 2018 ก็ได้รับการรับรองโดย FDA เพื่อการรักษาลมชัก
แต่ด้วยราคาที่แพงมากของ Epidiolex หมอบางคนจึงเลือกที่จะให้คนไข้ใช้กัญชาที่ไม่ได้ สกัดมาแค่ CBD แต่เป็นสารสกัดที่มีทั้ง THC, CBD และสารตัวอื่นๆ ไม่ได้เลือกชนิด และพบว่าใช้แบบไม่แยกสารนั้นช่วยลดลมชักได้ดีกว่าเดิมเสียอีก ซึ่งก็เป็นที่สันนิษฐานว่าสารแต่ละตัวในกัญชาสามารถทำงานร่วมกันในการช่วยหยุดการชัก (synergistic effect) และก็อย่างที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้นว่า THC มีฤทธิ์กันชักดีกว่า CBD แต่ติดที่จะไม่สามารถใช้ในคนที่เป็นโรคทางจิตบางประเภทได้
ต่อไปเป็น มะเร็งสมอง การใช้ในโรคมะเร็งนั้น กัญชาเหมือนเป็นความคาดหวังและที่พึ่งทางใจในผู้ป่วยมะเร็งโดยจะช่วยให้สบายขึ้นและอาจจะมีฤทธิ์ช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ก็ไม่ได้ผิดนัก เพราะมีการกล่าวถึงฤทธิ์กัญชาในการฆ่าเซลล์มะเร็งมาตั้งแต่ยุคอียิปต์และในยุโรปช่วงเรเนซองส์
จากนั้นก็เว้นว่างมาจนถึงการตีพิมพ์ในบทความปี 1975
แต่จากนั้นก็เว้นห่างมาอีกถึงปี 1998 ที่นักวิทยาศาสตร์พบว่า THC มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งสมอง (glioma) ได้ จากนั้นในปี 2004 ก็พบว่า CBD เองก็สามารถทำลายเซลล์มะเร็งสมองได้เช่นกัน ต่อมาจนปี 2006 มีการฉีด THC เข้าไปในก้อนมะเร็งสมองของคน (glioblastoma multiforme) พบว่าช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง
ต่อมาในปี 2011 ที่แคนาดามีเด็กสองคนพบว่า มะเร็งสมอง (pilocytic astrocytoma) ยุบลงหมดหลังจากสูบกัญชา และในปีเดียวกันพบว่าใช้กัญชากับยาคีโม (temozolomide) รักษามะเร็งสมอง (glioma) รักษามะเร็งได้ดีกว่าใช้คีโมเฉยๆ และเป็นการศึกษาแบบสุ่ม (Randomised controlled trial)
ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายืดอายุคนไข้ไปได้เฉลี่ยเกือบปี
นอกจากนั้นผลข้างเคียงก็ไม่ได้มากกว่ากลุ่มที่ได้แค่คีโมอย่างเดียว และในปี 2017 ก็ได้คำอธิบายกลไกเพราะพบว่า THCA สามารถกระตุ้นตัวรับสัญญาณ (PPAR-gamma) ซึ่งรับผิดชอบในการจัดการเซลล์มะเร็งโดยไม่มีผลต่อเซลล์ปกติ (apoptosis by binding to transcription factor on nuclear membranes)
...
เพราะเมื่อมันไปเกาะติดตัวรับสัญญาณมันจะหยุดการเพิ่มจำนวนเซลล์ ไม่แน่มันอาจจะสามารถช่วยจัดการก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง (meningioma) ได้ก็ได้
พาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากการตายของสมองส่วนกลาง (substantia nigra) จากโปรตีนผิดปกติที่เพิ่มความเข้มข้นในสมองและเกาะตัวเป็นจำนวนมากซึ่งเรียกว่าโปรตีน alpha synuclein และสุดท้ายมันก็จะแพร่กระจายไปทั่วสมอง โรคพาร์กินสันนี้เป็นโรคที่หมอสนใจที่จะเอากัญชามาใช้มากที่สุด แต่ไม่ได้เป็นคนแรกๆที่เอามาใช้หรอกนะ มีการจดไว้ตั้งแต่ปี 1888 หลังจากมีหมอชาวอังกฤษเริ่มใช้กัญชงจากอินเดียในการรักษาพาร์กินสัน
แต่ก็ผ่านมาอีกเนิ่นนานกว่าจะมีการนำมาใช้อย่างจริงจัง ก็ผ่านไปอีกเป็นร้อยปี เริ่มมาจากปี 2004 ที่นักวิจัยใช้สารสกัด THC ต่อ CBD ในโรคนี้แต่ไม่พบว่าได้ผล แต่อีกการศึกษาในยุโรปพบว่าคนไข้ที่เคี้ยวใบกัญชา อาการสั่น ตัวแข็ง และขยับช้า ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และจะดีที่สุดเมื่อใช้ยาวเกิน 3 เดือนขึ้นไป
ในปี 2009 พบว่า CBD ช่วยในอาการประสาทหลอนในคนไข้พาร์กินสัน นอกจากนั้นในปี 2014 ก็พบว่ามันยังช่วยในการนอนหลับและที่สำคัญอารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย แต่ถ้ามันได้แค่ช่วยอาการดีขึ้นสุดท้ายก็แย่อยู่ดี งั้นใช้ยาปัจจุบันที่มีอยู่ก็ได้กระมัง
จุดที่ทำให้หมอสนใจที่สุดคือมันอาจจะหยุดการแพร่กระจายของโปรตีนผิดปกตินี่ก็เป็นได้.
หมอดื้อ