ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคปัจจุบัน ชีวิตของมนุษย์บนโลกกำลังเข้าสู่สังคมดิจิทัลที่ผู้คนมีชีวิตอยู่กับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเกือบจะตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนเมื่อด้านดีของอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยในการเรียน การทำงาน การติดต่อสื่อสาร การใช้ชีวิตในด้านต่างๆ แต่อีกด้านที่ผู้ใช้ต้องยอมรับ ก็คือ ผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะสายตาที่ต้องเพ่งอยู่กับจออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เป็นเวลานานๆ

มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า อุบัติการณ์โรคทางดวงตา และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาในประเทศไทย ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก โดยปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากพฤติกรรมในการใช้สายตาที่เปลี่ยนแปลงไป และการละเลยการดูแลดวงตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน

กลุ่มที่เกิดอาการผิดปกติกับดวงตามากที่สุด มากกว่า 70% คือ กลุ่มคนทำงาน เพราะเป็นกลุ่มคนที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันไปกับการจ้องจอคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต และ Gadgets ต่างๆ และพบได้มากขึ้นในคนที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอาการผิดปกติของสายตา ที่เรียกว่า Computer Vision Syndrome เช่น อาการล้าตา ตาแห้ง แสบตา แพ้แสงสู้แสงไม่ได้ ปวดศีรษะ ปวดคอ บ่า ไหล่ เป็นต้น

...

สาเหตุของอาการดังกล่าวมาจากตัวการสำคัญอันหนึ่ง นั่นก็คือ แสงสีฟ้า (Blue Light) ซึ่งเป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูงจากจอคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต Gadgets ต่างๆ รวมถึงรังสียูวีจากแสงแดดที่เข้าสู่ดวงตา ที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระในเซลล์จอประสาทตา ทำให้เซลล์ค่อยๆเสื่อมลง หากไม่ดูแลและปรับพฤติกรรมการใช้สายตา จะทำให้เป็น โรคจอประสาทตาเสื่อม (Agerelated macular degeneration หรือ AMD) เป็นหนึ่งในปัญหาโรคทางสายตาของคนไทย เกิดจากเซลล์ที่จอประสาทเกิดความเสื่อมหรือถูกทำลาย มีผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง มองภาพไม่ชัด และเป็นไปอย่างช้าๆ เห็นเหมือนมีจุดดำบังตรงกลาง หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวไป จนถึงขั้นทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด

อาจกล่าวได้ว่า พฤติกรรมการติดจอและแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เป็นตัวเร่งให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควร โดยการไปกระตุ้นทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระทำให้เกิด lipofuscin ที่ทำลายเซลล์รับภาพในจอประสาทตา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน แสงแดด การกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ และกรรมพันธุ์ ฯลฯ

ข้อมูลจาก ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมโภชนวิทยามหิดล ระบุว่า จากการสำรวจพบว่าคนไทยประมาณ 98% ใช้เวลาตั้งแต่ตื่นนอนถึงก่อนเข้านอนกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากต้องปรับพฤติกรรมการใช้ดวงตาอยู่หน้าจอแล้ว อาจต้องรับประทานสารอาหารที่ช่วยดูแลดวงตาให้มีสุขภาพดี และลดความเสี่ยงในการเกิดโรครวมทั้งอาการผิดปกติกับดวงตา

ทั้งนี้ มีคำแนะนำจาก National Eye Institute สหรัฐอเมริกา ว่า การรับประทาน ลูทีน 10 มิลลิกรัม ร่วมกับซีแซนทีน 2 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้เพราะเป็นสารสำคัญซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารที่เรารับประทานเท่านั้น

ลูทีน และ ซีแซนทีน เป็นสารที่ช่วยทำหน้าที่กรองแสง ตลอดจนรังสีต่างๆ รวมทั้งแสงสีฟ้าที่ออกมาจากจออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งกับคนที่ทำงานโดยการใช้สายตาจ้องจอนานๆ หรือทำงานในที่ ที่มีแสงจ้าในธรรม-ชาติ พบลูทีนมากในหน่อไม้ฝรั่ง และบรอกโคลี ส่วนซีแซนทีนพบมากในพริกหวานสีส้ม ข้าวโพด น้ำส้ม และองุ่นเขียว ซึ่งอาจจะต้องรับประทานผักและผลไม้เหล่านี้จำนวนมากเพื่อให้ได้รับลูทีนและซีแซนทีนที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยลูทีน 10 มิลลิกรัม ต้องรับประทานหน่อไม้ฝรั่ง 1.1 กิโลกรัม หรือบรอกโคลี 1.4 กิโลกรัม และซีแซนทีน 2 มิลลิกรัม ต้องรับประทานพริกหวานสีส้ม 125 กรัม ข้าวโพด 400 กรัม น้ำส้ม 10 ลิตร หรือองุ่นเขียว 33 กิโลกรัม

นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอื่นๆที่ช่วยดูแลสุขภาพดวงตา เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน ดีเอชเอ และแอนโธไซยานิน ที่ช่วยในการมองเห็น เพิ่มความชุ่มชื้นของตา ปกป้องสายตาจากแสงแดด และชะลอความเสื่อมของเลนส์ตา ซึ่งหากได้รับอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารเหล่านี้ ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อให้ได้สารสำคัญในปริมาณที่มีประสิทธิผลตามการศึกษาวิจัย และสะดวกกับคนทำงานที่ใช้ชีวิตรีบเร่งในแต่ละวัน

...

สำคัญที่สุด คือ การปรับพฤติกรรมจากการใช้จอที่มีแสงสีฟ้าเป็นเวลานาน โดยใช้สูตรคลายสายตาด้วยการมองวัตถุอื่นๆที่ห่างออกไปประมาณ 20 ฟุต กะพริบตาต่อเนื่องเพื่อป้องกันอาการตาแห้ง รวมทั้งลุกขึ้นเดินไปรอบๆบริเวณที่นั่งอยู่ประมาณ 20 ก้าว เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดีและยืดอายุดวงตาให้เสื่อมช้าลง.