บทความ “ศุกร์สุขภาพ” สัปดาห์นี้ยังมีชนิดของโรคภูมิแพ้ที่พบในเด็กที่น่าสนใจอีก ดังนี้

โรคแพ้อากาศ หรือโรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุดในเด็กไทย เท่าที่มีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2538 พบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 43 หรือเกือบ 2 เท่าของอุบัติการณ์ที่สำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ.2518 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุ

เกิดจากพันธุกรรมของโรคภูมิแพ้ร่วมกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในศตวรรษที่ผ่านมา เกิดสังคมเมืองมากกว่าชนบท มีมลภาวะ สูบบุหรี่มาก มีการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ กินอาหารจานด่วน ขาดการออกกำลังกาย จึงเสริมให้คนเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น

สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ ละอองเกสรหญ้า/วัชพืช/แมว/สุนัข สปอร์เชื้อรา นอกจากนี้ยังซ้ำเติมด้วยสารระคาย/มลพิษ ที่เพิ่มขึ้นในสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM 2.5 ควันจากท่อไอเสียรถ ควันบุหรี่ เป็นปัจจัยเสริมทำให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบขึ้น

อาการ

อาการสำคัญคือ คัดจมูก น้ำมูกใสไหล คันจมูก และจาม มีอาการเป็นอย่างต่อเนื่องเรื้อรังแทบทุกวันหลายๆ สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันตา คอ หู หรือเพดานปากร่วมด้วย มีเลือดกำเดาไหลได้ ผู้ป่วยจะมีอาการแพ้เฉพาะช่วงเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลง หรือหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ ส่วนใหญ่มีอาการเฉพาะช่วงเช้าๆ หรือก่อนนอน พบน้อยที่จะมีอาการตลอดวัน เมื่อใช้ไฟฉายส่องดูในจมูก ลักษณะที่พบคือ เยื่อบุจมูกบวมซีด มีน้ำมูกใสจำนวนมาก

...

อาการเหล่านี้จะสับสนกับการติดเชื้อหวัดบ่อยๆ หรือโรคไซนัสอักเสบ ซึ่งทั้งสองโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อ มีเชื้อโรคเข้าไปในจมูกและโพรงไซนัส เชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ ไวรัสและแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการคล้ายกับภูมิแพ้ในจมูก คือ น้ำมูกไหล คัดจมูก อาจมีอาการจามและคันจมูกร่วมด้วย ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ จะต้องมีลักษณะที่บ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย ได้แก่ มีไข้ เจ็บคอ คออักเสบเป็นหนอง ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวมกดเจ็บ มีเสมหะหรือน้ำมูกสีเหลืองเขียว ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ระยะเวลาที่เป็นจากโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ประมาณ 1-2 สัปดาห์

การรักษา

การรักษาโรคแพ้อากาศมี 4 ขั้นตอน ดังนี้

• กำจัดหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และสารระคายต่างๆ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ ควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด แต่ในทางปฏิบัติผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำอย่างสม่ำเสมอได้ยาก โดยเฉพาะการลดฝุ่นและไรฝุ่นในห้องนอน แต่ก็ต้องพยายาม เพื่อลดความรุนแรงของโรค และดูแลสุขภาพกายและใจให้ดีอยู่เสมอ สำหรับในเด็กที่ติดหมอน ผ้า หรือตุ๊กตาตั้งแต่แรกเกิดจนโต แนะนำให้ทิ้งสิ่งที่ติด อาการของโรคภูมิแพ้อากาศจะดีขึ้นมาก

• การรักษาด้วยยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน หรือยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ ควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรค และแนะนำการรักษาด้วยยา แต่ยาเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุ เมื่อสามารถดูแลตนเองและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดี ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะลดดง

• การกระตุ้นภูมิบำบัดรักษา (immunotherapy) เป็นวิธีการรักษาด้วยวิธีการฉีดหรืออมใต้ลิ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ โดยหาได้จากการตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือเจาะเลือดตรวจหา IgE การรักษาวิธีนี้อาศัยหลักการให้สารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มปริมาณความเข้มข้นจะไปกระตุ้นให้ร่างกายทนต่อสิ่งที่แพ้ได้ วิธีนี้มักจะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ หรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีอาการหอบหืดรุนแรงร่วมด้วย

• การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการมาก หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้ว

โรคผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบ เรื้อรังเป็นๆ หายๆ โรคนี้พบประมาณร้อยละ 10 ในประชากรเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน และมักมีประวัติแพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หอบหืดร่วมด้วย คนในครอบครัวของผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ ได้แก่ แพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หอบหืดหรือผื่นภูมิแพ้ ได้แก่ ลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ นอกจากพันธุกรรมแล้ว ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญคือ สิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร ไรฝุ่น สารระคายเคือง หรือสารก่อภูมิแพ้ ผิวหนังของผู้ป่วยจะไวต่อสภาพแวดล้อม เช่น อากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป แห้ง ชื้น สารเคมีที่ระคายผิวหนัง และสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น แมลง เชื้อโรค

อาการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

• วัยทารก พบระหว่างอายุ 2 เดือน-2 ปี ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป บริเวณที่พบผื่นแดงคัน หรือมีตุ่มแดงและตุ่มน้ำเล็กๆ ผสมอยู่ในผื่นแดงด้วย พบมากที่สุดบริเวณแก้ม ถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองเยิ้มหรือตกสะเก็ด อาจพบร่องรอยจากการเกาหรือถู เด็กเล็กๆ จะชอบเอาหน้าถูกับที่นอน เพราะคันมาก ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้

• วัยเด็ก อายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งรอยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นๆ ได้ ผื่นมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดง แห้งๆ มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตก แฉะ เหมือนวัยทารก มีอาการคัน ผู้ป่วยมักเกาจนเกิดรอยถลอก มีเลือดซึม หรืออาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

...

• วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักพบผื่นบริเวณคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต

ปัจจัยอะไรที่ทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้เห่อง่าย

เนื่องจากผู้ป่วยจะมีผิวแห้งและผิวหนังที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม หรือต่อการกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง จึงมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบง่าย ดังต่อไปนี้ 

• สภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารก่อภูมิแพ้ เช่น มีไรฝุ่น แมลงสาบ สัตว์เลี้ยง แมลงอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น

• เชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา อาจแทรกซ้อนทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิมจะกำเริบมากขึ้น กรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย

• ภูมิอากาศ ผื่นผิวหนังอักเสบมักมีอาการมากขึ้น ผิวหนังผู้ป่วยจะไวต่อเกือบทุกสภาวะ เช่น ในช่วงฤดูหนาว มีความชื้นต่ำในอากาศ อากาศที่แห้งและเย็นจะทำให้ผิวหนังผู้ป่วยคันและอักเสบมากขึ้น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะเหงื่อออกมาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันและเกิดผื่นผิวหนังอักเสบมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน

...

• เสื้อผ้า ไม่ควรใช้เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์ เพราะระคายผิวหนัง ทำให้เกิดการคันเพิ่มมากขึ้น ผ้าฝ้ายที่ไม่หนามากจะเหมาะสมที่สุด 

• สบู่ ผงซักฟอก ที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะละลายไขมันธรรมชาติบนผิวหนัง ทำให้ผิวแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบเป็นมากขึ้นได้

• อาหาร ผู้ป่วยโรคนี้ประมาณร้อยละ 30 เกิดจากการแพ้อาหารและกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้ ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยเด็ก อาหารที่แพ้บ่อยๆ ได้แก่ นม ไข่ ถั่วเหลือง อาหารทะเล เป็นต้น

• จิตใจที่วิตกกังวล ความเครียด พบว่าสามารถทำให้โรคกำเริบได้

การรักษา

• หลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่

สบู่ ควรใช้สบู่อ่อนๆ ไม่ควรใช้สบู่อาบน้ำทุกครั้งที่อาบน้ำ การใช้บ่อยเกินไปยิ่งทำให้ผิวหนังแห้ง กระตุ้นให้ผื่นคันมากขึ้น

...

ผงซักฟอก เลือกชนิดที่ระคายเคืองน้อย เช่น ผงซักฟอกสำหรับเสื้อผ้าเด็กทารก และควรซักล้างออกให้หมดด้วยการซักน้ำเปล่า 

เสื้อผ้า เลือกใช้เสื้อผ้านุ่ม โปร่งสบาย เช่น ผ้าแพร ผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์ 

หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมากๆ 

ลดความเครียด ความวิตกกังวล

2. ลดอาการคันและหลีกเลี่ยงการเกา การรับประทานยาต้านฮีสตามีนจะช่วยลดอาการคันได้บ้าง และได้ผลดีสำหรับบางคนเท่านั้น จึงควรพิจารณาใช้เมื่อจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาและการใช้ยาโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ต้องลดการเกาซึ่งทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบกำเริบเห่อมากขึ้น

3. ป้องกันและรักษาผิวแห้งโดยการทามอยซ์เจอร์ไรเซอร์ หรือโลชั่น ควรทาหลังอาบน้ำภายใน 3-5 นาที หลังจากนั้นถ้าผิวหนังยังแห้งมาก ควรทาเพิ่มเติม สามารถทาได้วันละหลายครั้ง

4. ยาทาสเตียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผิวหนัง ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยาเป็นเวลานาน อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง ปัจจุบันมียาทากลุ่มใหม่ที่มิใช่สเตียรอยด์ ได้แก่ tacrolimus และ pimercrolimus ซึ่งควบคุมอาการของโรคได้ดีพอควร แต่มีราคาแพง การใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์

5. รักษาโรคแทรกซ้อน ถ้ามีตุ่มหนองในบริเวณที่เป็นตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

6. การรักษาอื่นๆ เช่น การฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต (UV) การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน มีข้อควรพิจารณาใช้ในรายที่เป็นรุนแรงมาก และเป็นบริเวณกว้างที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ ข้างต้นได้แล้ว และการใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

--------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านเพิ่มเติม