สาวๆ รู้หรือไม่? คุณอาจแพ้อาหารโดยไม่รู้ตัว! มีข้อมูลจากสถาบันโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา เปิดเผยว่า ภายใน 2-3 ปีมานี้ บ้านเรามีอัตราผู้ป่วยโรค "แพ้อาหาร" เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ พบได้ตั้งแต่อาการแพ้เล็กน้อย ไปจนถึงอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
Thairath Women อยากชวน "ผู้หญิง" ไปทำความเข้าใจและรู้ลึกเกี่ยวกับโรค "แพ้อาหาร" ให้มากขึ้น รวมถึงรู้จักสังเกตอาการว่า แบบไหนที่เรียกว่าอาการของคนแพ้อาหาร? แล้วถ้าเกิด "แพ้อาหาร" ขึ้นมาแบบเฉียบพลัน จะมีวิธีแก้อาการแพ้เบื้องต้นได้ยังไงบ้าง? มาหาคำตอบไปพร้อมกันค่ะ
โรคแพ้อาหาร เกิดจากอะไร?
อาการ "แพ้อาหาร" ถือเป็นโรคภูมิแพ้อย่างหนึ่ง เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้น (สารก่อภูมิแพ้) ที่แตกต่างจากคนทั่วไป สารกระตุ้นที่ว่านั้น เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา อาหารบางชนิด ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่ร่างกายคนปกติ จะแพ้ได้น้อย หรืออาจไม่มีอาการแพ้เลย แต่ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น ร่างกายจะตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ได้มากกว่าปกติ
การแพ้อาหาร เป็นการแพ้ที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกัน ของคนที่เป็นภูมิแพ้ตอบสนองผิดต่อโปรตีนบางชนิดในอาหาร และส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮีสทามีนและสารเคมีอื่นๆ ออกมาจนเกิดอาการแพ้ ในแต่ละคนมีการแพ้อาหารหนักเบาไม่เท่ากัน โดยอาหารที่คนส่วนใหญ่แพ้มากที่สุด ได้แก่ นมวัว, ไข่, ถั่วลิสง, กลูเตนในแป้งสาลี, อาหารทะเลโดยเฉพาะ กุ้ง ปู เป็นต้น
...
ทำไมคนสมัยนี้ "แพ้อาหาร" มากขึ้น?
จากการศึกษาอัตราชุกของโรคในประเทศไทยพบว่า โรคภูมิแพ้มีจำนวนผู้ป่วยต่อประชากรอยู่ที่ 15-45% นั่นแปลว่า ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศไทย กำลังเผชิญกับโรคภูมิแพ้อยู่ และการ "แพ้อาหาร" เป็นหนึ่งในอาการแพ้ที่พบมากในปัจจุบัน ความรุนแรงมีตั้งแต่อาการแพ้เล็กน้อย มีผื่นคัน ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต วิชยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา เคยเปิดเผยข้อมูลว่า โรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่คนไทยป่วยเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ โรคแพ้อาหาร เป็นโรคที่ร้ายแรงมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ผู้ป่วยที่มักจะเป็น "เด็ก" เสียชีวิตได้ ส่วนผู้ใหญ่มักไม่ค่อยมีอาการรุนแรงเท่าเด็กๆ หรือถ้ารุนแรงก็มักจะรักษาได้ทัน
สาเหตุที่ทำให้คนสมัยนี้ป่วยเป็นโรค "แพ้อาหาร" มากขึ้นกว่าแต่ก่อน คุณหมอปกิต อธิบายว่า อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป, สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป คือ คนเมืองใช้ชีวิตท่ามกลางมลภาวะที่สูงขึ้น, การรับประทานอาหารประเภท Process Food มากขึ้น เป็นต้น
"แพ้อาหาร" เสี่ยงตาย!
มีเคสของเด็กสาวจากประเทศอังกฤษ ที่มีอาการ "แพ้อาหาร" อย่างรุนแรงและเฉียบพลัน จนถึงขั้นเสียชีวิต โดยมีรายงานข่าวเมื่อปี 2018 ระบุว่า เด็กสาวชาวอังกฤษวัย 15 ปี ชื่อว่า Chloe Marie Gilbert ได้ออกไปช็อปปิ้งกับเพื่อนๆ ระหว่างนั้นเธอได้ซื้อเคบับจากร้าน Al Falafel และรับประทานเข้าไป
ไม่นานหลังจากรับประทานอาหาร เธอเริ่มมีอาการของภาวะภูมิแพ้อย่างรวดเร็ว ทั้งหายใจถี่ หอบ เกร็ง เธอทรุดตัวลงและเสียชีวิตที่ห้างสรรพสินค้า แม้จะได้รับการดูแลจากแพทย์ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ทันการณ์
จากการสืบสวนการเสียชีวิตของ Chloe โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พบว่า เด็กสาวคนนี้เป็นโรคแพ้อาหาร มีภาวะภูมิแพ้นมวัว ซึ่งแม้ว่าเธอจะพกยาฉีดแก้แพ้ติดตัวไปด้วย (Epinephrine) แต่คาดว่า...เธอมีอาการแพ้รุนแรงมากจนยาออกฤทธิ์ไม่ทัน หรือได้รับการฉีดยาที่ช้าเกินไป
Allergy skin test หาสาเหตุการแพ้
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ ทั้งโรค "แพ้อาหาร" และภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ สามารถทำได้ด้วยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy skin test) หลักการคือ การนำน้ำยาสกัดจากสารภูมิแพ้ชนิดต่างๆ มาทำการทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อทำให้ทราบว่าแพ้สารใด วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ ที่มีความไวและความจำเพาะสูง ทำง่าย และราคาไม่แพง สามารถทราบผลได้ทันที
...
น้ำยาสารก่อภูมิแพ้ที่แพทย์นำมาใช้ทดสอบ จะประกอบด้วยสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ไรฝุ่น รังแคของสัตว์ เช่น สุนัข แมว แมลงสาบ เชื้อราชนิดต่างๆ เกสรพืช หญ้า และสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเล เป็นต้น
วิธีการทดสอบ แพทย์จะใช้เครื่องมือสะกิดผิวหนังของคนไข้ บริเวณท้องแขนจำนวนหลายๆ จุด แล้วหยดน้ำยาสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ลงไป จากนั้นรอ 15-20 นาที หากผู้ป่วยแพ้สารใด ก็จะเกิดปฏิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดง คัน ในตำแหน่งที่ตรงกับการทดสอบสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ วิธีนี้ช่วยให้เราทราบว่า ตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด และมากน้อยเพียงใด จะได้สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น
อาการแพ้อาหาร เป็นยังไง?
- อาการแพ้เฉียบพลัน
อาการแบบนี้เรียกว่า Anaphylaxis จะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารนั้นไป 2-3 นาที ถึง 1 ชั่วโมง อาหารส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน คือ "อาหารทะเล" หลังรับประทานไปแล้วก็อาจจะเกิดการปากบวม หนังตาบวม คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก อาจอยู่ในสภาวะช็อก ความดันต่ำ ไม่รู้สึกตัว หายใจหอบเหนื่อย ชีพจรเบาและเร็ว หมดสติ เป็นต้น
...
- อาการแพ้อย่างช้าๆ
อาการแบบนี้จะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารนั้นๆ เข้าไปนานกว่า 1-24 ชั่วโมง อาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างช้าๆ ได้แก่ ไข่ นม ข้าวสาลี เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ลมพิษ ผื่นคันตามปาก คอ จมูก ตา ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ เป็นต้น
5 วิธีแก้อาการ "แพ้อาหาร" เบื้องต้น
...
1. ทำให้อาเจียนออกมา
หนึ่งในวิธีปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาการ "แพ้อาหาร" แบบไม่รุนแรง ก็คือ พยายามทำให้ปริมาณของสารที่แพ้ลดน้อยลง เช่น ล้วงลำคอให้อาเจียน เพื่อขับสารก่อภูมิแพ้ต้นเหตุที่อยู่ในร่างกายออกมาให้หมด แล้วสังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ หากไม่ดีขึ้นต้องได้รับยาแก้แพ้ หรือพาคนป่วยส่งโรงพยาบาล
2. ขับออกทางปัสสาวะ
อีกหนึ่งวิธีแก้อาการ "แพ้อาหาร" แบบไม่รุนแรง คือ ให้ผู้ป่วยที่แพ้อาหารดื่มน้ำเปล่าเข้าไปมากๆ และพยายามไปปัสสาวะออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความเข้มข้นของสารก่อภูมิแพ้ในร่างกาย จะช่วยบรรเทาอาการได้
3. ใช้ยาแก้แพ้
หากทำตามข้อ 1 ข้อ 2 แล้วยังไม่ค่อยดีขึ้น ก็ต้องกินยาแก้แพ้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งวิธีนี้ก็ใช้สำหรับคนที่มีอาการ "แพ้อาหาร" แบบไม่รุนแรงเช่นกัน
4. หาสาเหตุการแพ้
ตรวจหาอาหารที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดอาการแพ้ กรณีที่อาการแพ้น้อยมาก มีอาการไม่รุนแรง เช่น ผดผื่นคัน ก็อาจทำการตรวจด้วยตนเอง โดยการลองกินอาหารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุอีกครั้ง แต่ไม่แนะนำวิธีนี้ ทางที่ดีไม่ควรตรวจหาด้วยตัวเอง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ Allergy skin test อย่างที่บอกไว้ข้างต้น
5. แพ้เฉียบพลัน ต้องส่งโรงพยาบาล
กรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะการแพ้อาหารแบบเฉียบพลันนั้น เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ยิ่งถึงมือหมอเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีโอกาสหายมากขึ้น หรือถ้าใครที่รู้ตัวเองว่าแพ้อะไร ก็ควรพกยาแก้แพ้ติดตัว ไม่ว่าจะเป็นยากินแบบเม็ด หรือยาฉีดแบบ Epinephrine ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อมีภาวะแพ้อย่างรุนแรง ใช้กระตุ้นการทำงานของหัวใจเมื่อหัวใจหยุดเต้น
ติดตามอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ "ผู้หญิง" ได้ที่นี่ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ.
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
ที่มา : snacksafely, สถาบันภูมิแพ้, thaihealth, honestdocs, healthline, healthcarethai