"สาวออฟฟิศ" รู้หรือไม่? หากคุณมีอาการ Lack of Sleep หรือการ "นอนไม่พอ" อดนอน นอนหลับยาก ส่งผลเสียต่อ "สุขภาพ" ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยว่าร่างกายคนเรามีนาฬิกาชีวิต หากคุณผู้หญิงทำให้เข็มนาฬิกานั้นเดินผิดเพี้ยนไป ก็เตรียมตัวป่วยได้เลยจ้า

Thairath Women จะพาไปเจาะลึกผลเสียจากการ "นอนไม่พอ" ที่อาจมีเอฟเฟกต์ต่อสุขภาพของ "ผู้หญิง" วัยทำงาน อายุ 30+ หรือสาวอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจจะส่งผลเสียได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้าเพิ่งเริ่มมีอาการขั้นเบาๆ ก็อาจจะพบว่าใบหน้าหมองคล้ำ มีริ้วรอย ขอบตาดำ แต่ถ้าเลเวลอัพสู่อาการขั้นหนัก อาจเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคมะเร็งได้เลยทีเดียว

ผลเสียของการ "นอนไม่พอ"

1. ระบบภูมิคุ้มกันลดลง

การ "อดนอน" จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานหนักขึ้น ซึ่งเลือดจะมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น และเม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะสลายตัวในเวลาต่อมา จึงทำให้ความสามารถของร่างกายในการต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสเสียไป

...

2. ความทรงจำลดลง

การ "นอนไม่พอ" ส่งผลให้ระบบจัดเก็บความทรงจำหรือระบบประสาทมีประสิทธิภาพลดลง โดยอวัยวะที่สำคัญคือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) จะทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลที่เรียนรู้ในระหว่างวัน เข้าสู่ความทรงจำระยะยาว ซึ่งอวัยวะชิ้นนี้จะทำงานตอนที่เรานอนหลับเท่านั้น และจะทำงานได้ดีหากร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

3. อารมณ์เครียด หงุดหงิด

คนที่ "นอนไม่พอ" เมื่อตื่นนอนในวันต่อมา มักจะหงุดหงิด เครียด และอารมณ์ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยไม่มีเหตุผล มีอาการง่วงนอน หรือรู้สึกไม่สดชื่นตลอดทั้งวัน

4. ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ

ผลเสียอีกอย่างของการ "อดนอน" คือ จะทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ โดยร่างกายจะต้องใช้เวลามากขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงนานๆ จะทำให้ "แก่เร็ว"

5. อ้วนง่าย ไขมันสะสม

หากเรา "อดนอน" นาน 1 สัปดาห์ หรือนอนวันละ 4 ชั่วโมงโดยประมาณ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นในการควบคุมปริมาณกล้ามเนื้อและไขมันน้อยลง ทำให้ร่างกายสะสมไขมันมากขึ้น

6. หิวง่าย หิวเร็ว

หากคนเรานอนไม่ถึงวันละ 8 ชั่วโมง ร่างกายก็จะผลิตสารเลปติน (Leptin) น้อยลงซึ่งเลปตินมีบทบาทในการควบคุมความอยากอาหาร เพราะฉะนั้นยิ่งเราอดนอน เลปตินก็จะถูกผลิตออกมาน้อยลงทำให้เรามีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น เช่นอยากกินขนมหวาน และอาหารมันๆ มากขึ้นไปอีก

7. หน้าแก่เกินวัย สิวขึ้น

การ "นอนไม่พอ" สูญเสียโอกาสที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ในขณะหลับ ซึ่งโกรทฮอร์โมนจะช่วยให้คุณดูอ่อนเยาว์ โดยการสร้างสมดุลระบบการเผาผลาญอาหาร และช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ดังนั้น หากขาดฮอร์โมนชนิดนี้ผิวหนังก็จะหย่อนคล้อยและเหี่ยวย่นได้ หรือบางคนก็มีสิวขึ้นเยอะผิดปกติ

...

8. เซลล์ในร่างกายอักเสบง่าย

สารเมลาโทนินเป็นสารที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเซลล์ผิวหนังจากสารอนุมูลอิสระต่างๆ และสารเมลาโทนินจะถูกสร้างมากที่สุดในเวลากลางคืนขณะที่เรานอนหลับ ถ้าเรา "อดนอน" หรือ "นอนไม่พอ" ก็จะทำให้มีการสร้างสารนี้ลดลง ส่งผลให้เกิดการอักเสบหรือเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น

9. เสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคมะเร็ง

เนื่องจากสารโปรตีนในตัวเราจะสะสมมากขึ้นในหัวใจ เวลาร่างกายตื่นโดยธรรมชาติ แต่ถ้าหากเรา "อดนอน" หรือ "นอนดึก" สารโปรตีนเหล่านี้จะยิ่งเข้าไปเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดการอุดตันได้ จึงมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจถึง 2 เท่า

อีกอย่างคือมีการศึกษาวิจัยว่า การนอนดึก หรือคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง จะส่งผลให้คนนั้นๆ มีอาการของมะเร็งลำไส้ มากกว่าคนที่นอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงขึ้นไป

FYI คนแต่ละวัยต้องนอนหลับวันละกี่ชั่วโมง?

...

- เด็กแรกเกิด ควรนอนหลับ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 1 ปี ควรนอนหลับ 14 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 2 ปี ควรนอนหลับ 12-14 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 3-5 ปี ควรนอนหลับ 10-13 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 6-13 ปี ควรนอนหลับ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 14-17 ปี ควรนอนหลับ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
- ผู้ใหญ่ ควรนอนหลับ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน

ผลเสียเยอะขนาดนี้ งั้นคืนนี้อยากให้สาวๆ เข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่เกินสี่ทุ่ม เพื่อที่จะได้ตื่นเช้าในวันถัดไปได้อย่างสดใส และมีสุขภาพดีนะคะ แล้วอย่าลืมติดตามเรื่องราว "สุขภาพ" ดีๆ ของผู้หญิงกันต่อได้ที่นี่ :

 

ที่มา : pharmacy.mahidoldmh