การตรวจวินิจฉัย
1. การตรวจชีพจรของขาและเท้าและการวัดความดันหลอดเลือดขาเทียบกับแขน เป็นการตรวจพื้นฐานที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจะได้รับ
2. การตรวจทางกายภาพและสรีรวิทยา
3. การตรวจผิวหนัง วัดออกซิเจนที่ใต้ผิวหนัง
4. การตรวจการรับรู้ของระบบประสาทที่ขาและเท้า เช่น การตรวจโมโนฟิลาเม้นท์ (monofilament) เป็นต้น
5. การตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือด (vascular examination) มีหลายวิธี
- การใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียง (duplex ultrasound)
- การตรวจหลอดเลือดโดยใช้คลื่นแม่เหล็ก (magnetic resonance angiography, MRA)
6. การตรวจอื่นๆ ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยเบาหวานแต่ละราย เช่น การตรวจหาความผิดปกติของกระดูกที่ติดเชื้อ
การรักษา
การรักษาแผลเบาหวาน นอกจากตัวผู้ป่วยเบาหวานเองที่จะต้องให้ความร่วมมือกับการรักษาของแพทย์แล้ว ด้านการรักษาโดยแพทย์ยังต้องอาศัยแพทย์หลายฝ่าย ได้แก่ ศัลยแพทย์หลอดเลือด ศัลยแพทย์กระดูก อายุรแพทย์หัวใจ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ วิสัญญีแพทย์ เป็นต้น
โดยแพทย์จะมีแนวทางการรักษาตามสาเหตุแต่ละสาเหตุที่เกิดแผลที่เท้าอย่างเหมาะสมแก่ผู้ป่วยเบาหวานแต่ละราย การรักษาแผลเบาหวานที่สำคัญๆ เช่น
...
1. การใช้ยา ในกรณีแผลเล็กน้อยหรือแผลระยะเริ่มต้น และต้องทำแผล
แพทย์จะให้ผู้ป่วยทานยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ร่วมกับการทำแผลด้วยตัวผู้ป่วยเอง (หรือการไปทำแผลที่โรงพยาบาลตามกำหนด) แพทย์จะให้ยาลดบวมด้วย
2. การใช้ยาร่วมกับการตัดแต่งแผล ในกรณีแผลอักเสบ เป็นหนอง แผลเรื้อรัง
เนื่องจากเนื้อเยื่อที่ตายเป็นที่สะสมและเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้กลไกในการกำจัดการติดเชื้อของร่างกายไม่สามารถทำงานได้ ในกรณีนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยทานยาปฏิชีวนะ และยาลดบวม ร่วมกับการผ่าตัดแต่งแผลเพื่อลดจำนวนแบคทีเรียและนำเนื้อเยื่อที่ตายออก ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด การใช้เอนไซม์ การใช้วิธีกล วิธีการทางชีววิทยา เป็นต้น โดยแพทย์จะเลือกใช้ตามสภาวะของผู้ป่วย
3. การผ่าตัด
- การผ่าตัดรักษาภาวะขาดเลือด (revascularization) สำหรับผู้ป่วยที่มีแผลขาดเลือด (gangrene wound) โดยการผ่าตัดตกแต่งซ่อมแซมหลอดเลือด (angiography) การผ่าตัดทำบายพาสหลอดเลือด (distal bypass surgery) เป็นต้น
- การผ่าตัดอวัยวะ (amputation) ที่เกิดแผล เพื่อการรักษาอวัยวะส่วนดีที่อยู่ติดกัน
- การผ่าตัดเพื่อนำกระดูกที่ตายออก
- การผ่าตัดเพื่อลดแรงกดทับ (offloading) ภายใน การลดแรงกดช่วยเพิ่มโอกาสในการหายของแผลและทำให้แผลหายเร็วขึ้น เช่น การผ่าตัดยืดเอ็นข้อเท้า (Archilles tendon lengthening) เป็นต้น
4. การใช้แรงดันลบ
เป็นการใช้แรงดันลบเพื่อลดอาการบวม กำจัดสิ่งต่างๆ ที่เชื้อแบคทีเรียสร้างขึ้น และช่วยทำให้ขอบแผลเข้ามาหากัน วิธีนี้จะถูกพิจารณาใช้เมื่อการรักษามาตรฐานที่ใช้อยู่ไม่ได้ผล
5. การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า
การใช้กระแสไฟฟ้าช่วยในการสร้างโปรตีน ก่อให้เกิดการย้ายเซลล์ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
6. การใช้หนอนแมลงวัน
การใช้หนอนแมลงวันรักษาแผลเริ่มมีขึ้นมานานกว่า 1,000 ปี ต่อมาเมื่อมีการค้นพบยาปฏิชีวนะ การใช้หนอนแมลงวันจึงเสื่อมความนิยมลง
ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์จึงทำให้เกิดความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากหนอนแมลงวันได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น การใช้หนอนแมลงวันในการรักษาแผลจึงได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรักษาแผลเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวาน รวมทั้งแผลเรื้อรังจากสาเหตุอื่นๆ เช่น แผลไฟไหม้ เป็นต้น
แมลงวันมีมากกว่า 100,000 ชนิด หนอนแมลงวันบางชนิดจะกินเนื้อเยื่อตายแล้วเท่านั้น (บางชนิดกินเนื้อเยื่อที่ดีด้วย) แต่ชนิดที่นำมาใช้คือแมลงวันก้นเขียว Lucilia Serricata ซึ่งตัวอ่อนหรือหนอนแมลงวันชนิดนี้มีความเหมาะสม ไม่สามารถชอนไชเข้าไปในเนื้อเยื่อที่มีชีวิตได้
หนอนแมลงวันมีวงจรชีวิตประมาณ 3-4 วัน จากนั้นหนอนแมลงวันก็จะกลายเป็นดักแด้ แล้วจะกลายเป็นแมลงวันในที่สุด แต่แพทย์จะใช้ประโยชน์เฉพาะระยะที่เป็นหนอนแมลงวันเท่านั้น
หนอนแมลงวันที่นำมาใช้ทางการแพทย์ไม่ใช่หนอนแมลงวันทั่วไป แต่เป็นหนอนแมลงวันที่ถูกเพาะเลี้ยง และทำให้ปราศจากเชื้อโรคโดยห้องปฏิบัติการเฉพาะ
หนอนแมลงวัน (ในผู้ป่วยบางราย หนอนแมลงวันจะถูกบรรจุอยู่ในถุงไนลอนที่มีรูพรุนขนาดเล็ก) จะถูกใส่เข้าไปในแผลเพื่อให้พวกมันกัดกินเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว
มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อได้ว่า นอกจากหนอนแมลงวันจะสามารถกัดกินเนื้อตาย น้ำย่อยของหนอนแมลงวันยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ด้วย
หนอนแมลงวันชนิดนี้จะหลั่งเอนไซม์ proteolytic ซึ่งสามารถช่วยลดกลิ่นเหม็นและเชื้อแบคทีเรียของแผล
...
หนอนแมลงวันจะถูกใส่เข้าไปในแผล แพทย์จะใช้เวลาประมาณ 1 วันในการรักษาแผลเบาหวาน แต่ละวิธีที่กล่าวมานั้น สิ่งที่แพทย์จะกระทำควบคู่กับการรักษาแผลก็คือ
- การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วย การควบคุมระดับน้ำตาลกระทำโดยการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งได้แก่ อินซูลินชนิดฉีด และยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในเลือด
- การให้ยาปฏิชีวนะ
- การให้ยาตามสภาวะของผู้ป่วย เช่น ยาลดบวม ยาระงับปวด ยาคลายเครียด เป็นต้น
สัปดาห์หน้ายังมีแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่มีแผลเบาหวาน และการป้องกันไม่ให้เกิดแผลเบาหวาน รอติดตามกันนะครับ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
----------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
หนังสือคู่มือความรู้ภาคประชาชนเรื่อง “แผลเบาหวาน” โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์จุมพล วิลาศรัศมี