เป็นที่ทราบกันดีว่า “มะเร็ง” คือ โรคร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์เป็นอันดับต้นๆ ในทั่วทุกมุมโลก...!

รศ.นพ.ประเสริฐ เลิศสงวนสินชัย ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง รพ.วัฒโนสถ ให้ข้อมูลว่า การรักษามะเร็งโดยทั่วไปมีอยู่ 3 วิธี คือ ผ่าตัด เคมีบำบัด และ รังสีรักษา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค การวินิจฉัยของแพทย์ และการตัดสินใจของคนไข้ว่าจะเลือกใช้วิธีการรักษาแบบใด

“โรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะมีปัญหาเฉพาะที่ แต่สำหรับมะเร็งในระยะท้ายๆ จะมีการลุกลามและแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ แม้ว่าคนไข้บางรายจะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน ระยะโรคเหมือนกัน แต่วิธีการรักษาอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรคร่วมและสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาโรคมะเร็งมีการพัฒนาไปในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดด้วยเทคนิคการส่องกล้อง การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด รวมถึงการรักษาด้วยตัวยาแบบมุ่งเป้าที่จะเจาะจงไปยังเซลล์มะเร็งเป้าหมาย ทำให้ผลกระทบที่เกิดกับเนื้อเยื่อปกติน้อยลง”

คุณหมอประเสริฐ บอกว่า วิทยาการและนวัตกรรมด้านการรักษาโรคมะเร็งก้าวหน้าอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรักษามะเร็งสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นการรักษาเซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมายเฉพาะจุด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่อยู่โดยรอบ ทั้งทางด้านศัลยกรรมมะเร็ง (surgical oncology) อายุรกรรม มะเร็ง (medical oncology) และการรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสี หรือที่เรียกว่า รังสีรักษา (radiotherapy)

...

ผอ.ฝ่ายดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง รพ.วัฒโนสถ ให้ข้อมูลถึงนวัตกรรมใหม่ในการรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษา ด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า EDGE ว่า EDGE เป็นนวัตกรรมใหม่ของรังสีรักษามะเร็งที่เป็นการรักษาแบบรังสีศัลยกรรม (Radiosurgery) โดยเครื่องมือชนิดนี้ถูกออกแบบให้ขอบเขตลำรังสีสอดรับกับรูปร่างหรือรูปทรงของก้อนมะเร็ง และมีระบบภาพนำวิถีตรวจสอบตำแหน่งที่จะให้การรักษาอย่างถูกต้องและแม่นยำ

เมื่อถามว่า เครื่องมือชนิดนี้ ใช้ได้ผลดีกับมะเร็งอวัยวะใด คุณหมอประเสริฐ บอกว่า ที่ชัดเจนที่สุดคือมะเร็งในสมอง มะเร็งในก้านสมอง ซึ่งโดยปกติมีความเสี่ยงสูงในการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การ ผ่าตัด อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง และเนื้อเยื่อสมอง แต่หากใช้การรักษาด้วยวิธีรังสีศัลยกรรมโดยเครื่องฉายรังสี EDGE จะลดการกระทบกระเทือนและบอบช้ำลงได้มาก

เครื่องฉายรังสี EDGE เป็นเครื่องฉายรังสีรักษารุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพและมีเทคโนโลยีการฉายรังสีมาตรฐานแบบ 3 มิติ (3D-RT) และ 4 มิติ (4D-RT) ที่สำคัญ คือ เครื่องฉายรังสี EDGE ออกแบบเพื่อเน้นการฉายรังสีศัลยกรรม (Radiosurgery) ลักษณะสำคัญของเครื่องคือ จะมีซี่วัตถุกำบังรังสี จำนวน 120 ซี่ ที่สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ โดยแต่ละซี่วัตถุกำบังรังสีจะมีขนาดเล็กมาก ทำให้สามารถเปิดขอบเขตลำรังสีได้อย่างกระชับ สอดรับกับรูปร่างของก้อนเนื้อเยื่อที่ต้อง การรักษา ขณะเดียวกันซี่วัตถุกำบังรังสีเหล่านี้จะช่วยปิดกั้นไม่ให้รังสีไปโดนอวัยวะปกติรอบข้าง หรือป้องกันให้โดนรังสีน้อยที่สุด

ในอดีตเครื่องฉายรังสีบางเครื่องถูกผลิตขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับการรักษาโรคมะเร็งในอวัยวะบางตำแหน่งเท่านั้น แต่เครื่องฉายรังสี EDGE สามารถปรับการใช้งานได้หลายเทคนิค สามารถใช้ได้กับการฉายรังสีทั่วร่างกาย ทั้งในสมองและนอกสมอง เช่น ปอด ไขสันหลัง ต่อมลูกหมาก ระบบทางเดินอาหารและระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ฯลฯ

จากข้อมูลการวิจัยทางการแพทย์พบว่า การฉายรังสีในระยะเวลาสั้นๆ ด้วยปริมาณรังสีสูงมากๆ ในระดับหนึ่ง สามารถฆ่าและทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่า โอกาสการกลับเป็นซ้ำน้อยลง อาการข้างเคียงลดลงกว่าการฉายรังสีวิธีเดิม ที่ต้องฉายรังสีหลายครั้ง ทำให้เพิ่มโอกาสอยู่รอดและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ดีขึ้น

คุณหมอประเสริฐ บอกว่า ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งโรคมะเร็งไม่ว่ามะเร็งปอด มะเร็งตับ แม้จะเป็นในระยะเริ่มแรก แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุ การรักษาต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าคนที่อายุน้อย และบางคนมีข้อบ่งห้ามในการทำผ่าตัด การรักษาด้วยวิธีรังสีศัลยกรรม ถือว่าเป็นทางเลือกที่มีผลกระทบน้อยที่สุดต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ เพราะสามารถใช้รังสีฉายเข้าไปตรงจุดที่เป็นก้อนมะเร็งโดยตรง แบบที่เรียกว่า Targeted หรือเฉพาะจุดที่เป็นมะเร็งโดยตรง ทำให้สามารถเก็บสงวนอวัยวะไว้ได้

...

“หลังๆที่พบบ่อยในผู้ชายสูงอายุ คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งบางครั้ง การรักษาด้วยการผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง การใช้รังสีศัลยกรรมในการรักษา ถือว่ามีผลกระทบน้อยที่สุดกับผู้ป่วย” คุณหมอประเสริฐ บอกและว่า ปัจจุบันเมืองไทยมีเครื่องมือชนิดนี้เพียง 2 เครื่อง อยู่ที่ รพ.รามาธิบดี 1 เครื่อง และที่ รพ.วัฒโนสถ 1 เครื่อง ซึ่งใช้มาประมาณ 2 ปี รักษาคนไข้ไปร่วมห้าร้อยกว่าคนแล้ว

สำหรับค่ารักษาด้วยเครื่องมือชนิดนี้ ผอ.ฝ่ายดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง รพ.วัฒโนสถ บอกว่า มีตั้งแต่ 2 แสนบาทไปจนถึง 5 แสนบาท ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง จำนวนครั้งที่ต้องทำการฉายรังสี และพยาธิสภาพของผู้ป่วย.