ภัยร้ายใกล้ตัว "ผู้หญิง" วัยทำงานอีกอย่าง ที่ไม่ควรมองข้าม คือ "โรคหัวใจ" สมัยก่อนคนป่วยโรคหัวใจมักเป็นคนสูงวัย อายุ 50+ ขึ้นไป แต่เชื่อมั้ยว่า...ตอนนี้ผู้หญิงเริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ในช่วงอายุที่น้อยลง ด้วยวัยเพียง 35 ปี! โดยเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 31% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
Thairath Women ชวนสาวๆ มาหาคำตอบกันว่า ทำไม? "ผู้หญิง" วัยทำงาน อายุ 35+ ถึงป่วยเป็น "โรคหัวใจ" กันมากขึ้นอย่างน่าตกใจ
ทำไม? ผู้หญิงอายุน้อยเป็น "โรคหัวใจ"
1. การเฝ้าระวังผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย
ในอดีต วงการสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการตรวจหาโรคหัวใจในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จึงอาจจะทำให้การเฝ้าระวังโรคหัวใจในผู้หญิงมีบทบาทน้อยกว่า ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าอัตราการป่วยเป็นหัวใจวายในผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น และมีการเฝ้าระวังโรคหัวใจในผู้หญิงมากขึ้น
2. อาการบ่งชี้ ไม่ชัดเจน
...
"ผู้หญิง" มีแนวโน้มที่จะมีอาการ "หัวใจวาย" แตกต่างจากผู้ชาย นั่นคือ ปวดหลัง คลื่นไส้ เหงื่อออก วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น (ส่วนอาการบ่งชี้ถึงโรคหัวใจของผู้ชายจะแตกต่างออกไป คือ แน่นหน้าอกรุนแรง)
ดังนั้น ทั้งตัวคนไข้หรือแม้แต่แพทย์เอง ในบางครั้งก็อาจจะไม่ทันคิดว่าอาการเหล่านี้จะบ่งบอกถึง "โรคหัวใจ" ได้ แต่อาจจะคิดไปถึงโรคอื่นๆ อย่างโรควิตกกังวล โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น จึงมักจะตรวจหา หรือรักษาได้ไม่ทันการ
3. ความดันสูง และโรคอ้วน
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรทำให้เกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้นในหมู่หญิงสาว แต่พวกเขาก็พบว่า อัตราการเกิดโรคหัวใจในผู้หญิงอายุน้อย มักมีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วนในผู้หญิง แปลว่า ถ้าผู้หญิงคนไหนมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน โรคความดัน อยู่แล้ว ก็จะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นด้วย
4. ความเครียด
นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เคยให้ข้อมูลไว้ว่า สาเหตุที่คนวัยทำงานเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ในช่วงอายุน้อยลง เนื่องจากมีความเครียด อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนัก
และความเครียดยังกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจบีบตัวและเต้นเร็วขึ้น หรืออาจส่งผลให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือที่เรียกหัวใจวายได้
5. ผู้หญิงสูบบุหรี่
มีการศึกษาพบว่า "ผู้หญิง" วัยทำงานยุคนี้ มีแนวโน้มสูบบุหรี่กันมากขึ้น หรือแม้ว่าจะไม่สูบบุหรี่ แต่ก็อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนสูบบุหรี่อยู่จำนวนมาก สภาพแวดล้อมเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงวัยทำงานเสี่ยงต่อการเป็น "โรคหัวใจ" หรือเป็นหัวใจวาย เพิ่มมากขึ้นในช่วงอายุที่ยังน้อย
ป้องกัน "โรคหัวใจ" ก่อนสายเกินไป
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เพื่อหัวใจที่แข็งแรง
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
- ตรวจสุขภาพประจำปี ทุกๆ ปี
- หลีกเลี่ยงการเป็น Secondhand Smoker หรือ การได้รับควันบุหรี่ทางอ้อมโดยไม่ได้สูบบุหรี่ แต่อยู่ในบริเวณที่มีคนสูบบุหรี่มากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น "โรคหัวใจ" ได้ เนื่องจากควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศข้างเคียง มีพิษมากกว่าควันบุหรี่ของคนที่สูบเข้าไปโดยตรงเสียอีก
...
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ "ผู้หญิง" วัยทำงานห่างไกลจากโรคหัวใจได้แล้วค่ะ
อ่านเพิ่มเติม :
ที่มา : health, thaihealth