คำว่า "อ้วน" พูดเบาๆ ก็เจ็บปวด สำหรับคนที่รู้ตัวว่าน้ำหนักเกินอยู่แล้วยังไม่เท่าไหร่ แต่พวกผู้หญิงที่ผอมจนเหลือแต่กระดูกยังมาบ่นว่า "อ้วนๆ" ก็มักจะทำให้เราต้องเบะปาก มองบนโดยไม่รู้ตัว

สำหรับคนที่ชอบบ่นว่าอ้วน วันนี้ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ จะพาคุณไปเช็กว่า ต้องมีน้ำหนักเกินขนาดไหนถึงจะเรียกว่าอ้วน

ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนว่า "ความอ้วน" ที่เราพูดถึง เกิดจากการสะสมของไขมันที่บริเวณต่างๆ ในร่างกาย ถ้ามีไขมันสะสมมากเกินไป อาจเป็นที่มาของ "โรคอ้วน" และโรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหัวใจ เป็นต้น 

เช็กดูว่าคุณ "อ้วน" เกินไปรึเปล่า เรามีวิธีวัดความอ้วนแบบง่ายๆ มาฝาก

วิธีที่ 1 : เช็กจากค่าดัชนีมวลกาย

ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือมาตรการที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถทำได้จากการเอาน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อสาวๆ ถึงในขั้นที่น้ำหนักเกินก็ควรจะออกกำลังกายหรือเริ่มควบคุมอาหารได้แล้ว

...

เช่น น้ำหนัก 50 กก. สูง 1.60 เมตร จะได้ค่าดัชนีมวลกาย = 50/1.6x1.6 = 19.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

ถ้าได้ค่าน้อยกว่า 18.5 แปลว่า คุณมีรูปร่างที่ผอม
ถ้าได้ค่า 18.5 – 22.9 แปลว่า คุณมีรูปร่างสมส่วนพอดิบพอดี
ถ้าได้ค่า 23 – 24.9 แปลว่า เริ่มอ้วนแล้ว
ถ้าได้ค่าตั้งแต่ 25 แปลว่า ไปลดน้ำหนักได้แล้วจ้า

วิธีที่ 2 : วัดรอบ "พุง"

ใช้สายวัด วัดรอบเอวโดยวัดผ่านบริเวณสะดือ และถ้าผู้หญิงมีรอบเอวมากกว่า 32 นิ้ว แปลว่าคุณอ้วนลงพุงแล้วจ้า (ส่วนผู้ชายมากกว่า 36 นิ้ว)

วิธีที่ 3 : นับแคลอรี

นับจากพลังงานที่เราได้รับในแต่ละวัน โดยปริมาณแคลอรีที่ร่างกายเราใช้ต่อวัน ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะอยู่ที่ 1,400-1,800 แคลอรี (ผู้ชายจะอยู่ที่ 1,600-2,200 แคลอรี) ซึ่งเราสามารถเช็กได้จากอาหารที่เราเลือกรับประทานไปในแต่ละวันได้เลย

เช่น ส้มตำ 1 จาน ให้พลังงาน 120 แคลอรี, ข้าวมันไก่ 1 จาน ให้พลังงาน 600 แคลอรี, ผัดซีอิ๊วใส่ไข่ ให้พลังงาน 440 แคลอรี ถ้านับๆ ดูแล้วเราได้รับพลังงานเกินทุกวันก็มีสิทธิ์อ้วนได้เหมือนกันนะ

ลองสังเกตตัวเองกันดูนะคะ ว่าที่ผ่านมาเรามีส่วนเกินบ้างหรือยัง อย่างไรก็ตาม...เพื่อสุขภาพที่ดี ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ อยากแนะนำให้คุณผู้หญิงทุกคนรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายนะคะ

อ่านต่อบทความเกี่ยวกับการ "ลดน้ำหนัก"

...