จากกรณีหนุ่มโฟร์แมนคนหนึ่งไปนวดแผนไทย หลังจากที่บาดเจ็บจากการเตะฟุตบอลมาได้ไม่กี่วัน ปรากฏว่านวดไปได้ประมาณ 30 นาที ก็เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจาก ลิ่มเลือดในหลอดเลือดอุดตันขั้วปอด ทำให้หายใจไม่ออก
เหตุการณ์นี้ทำให้คนไทยหวาดผวาการนวดแผนไทยในปัจจุบันไม่น้อย กังวลว่าหากไปนวดแล้ว จะเสียชีวิตแบบนี้หรือเปล่า? แค่ไปนวดไทยทำไมอันตรายถึงขั้นเสียชีวต? ต้องเช็กร่างกายก่อนไปนวดแผนไทยหรือไม่?
ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ ไปค้นหาคำตอบจนรู้มาว่า จริงๆ แล้วมีข้อควรระวังและข้อห้าม ก่อนจะไปนวดแผนไทยที่เราควรรู้และศึกษาไว้ ส่วนจะมีข้อห้ามเรื่องอะไรบ้าง มาดู...
1. บาดเจ็บจากเล่นกีฬา
การบาดเจ็บทางร่างกายหลังจากการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย เช่น แผลฟกช้ำ มีลิ่มเลือด กล้ามเนื้ออักเสบ เอ็นอักเสบ ฯลฯ ไม่ควรไปนวดแผนไทย ควรเว้นระยะให้หายดีก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพราะหากเพิ่มบาดเจ็บมาใหม่ๆ ก็ทำให้ลิ่มเลือดนั้นไปอุดตันตามอวัยวะสำคัญ เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต
อย่างเช่นในเคสนี้ ไปเตะฟุตบอล เกิดอาการบาดเจ็บเข่าอักเสบ ฟกช้ำ มีลิ่มเลือด เมื่อไปนวดจึงทำให้ลิ่มเลือดจากจุดดังกล่าวไหลไปตามเส้นเลือด และไปอุดตันที่ขั้วปอด ส่งผลให้หายใจไม่ออกและเสียชีวิต
2. ผู้ป่วยกระดูกหัก
มีข้อมูลจากนายแพทย์วิทวัส ศิริประชัย เพจ Drama-addict ระบุว่า การนวดแผนไทยไม่ใช่ว่านวดได้ทุกคน มีข้อห้ามหลายข้อด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ หากเป็นผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ แล้วมีประวัติกระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน ฯลฯ ไม่ควรนวดแผนไทย
"ถ้ามีปัญหากระดูกหัก ร้าว ข้อเคลื่อน หรือมีการบาดเจ็บต่างๆ ร่างกายจะเกิดพวกลิ่มเลือดตามเส้นเลือดได้ ซึ่งการไปนวดแผนไทยในคนไข้ที่มีอาการเหล่านี้ จะทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกมาในกระแสเลือด แล้วถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดในสมองก็จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ถ้าไปอุดตันเส้นเลือดในปอดก็จะเหนื่อย แน่นหน้าอก แล้วก็เสียชีวิต"
...
3. ผู้ป่วยไข้สูง ป่วยติดเชื้อ
หากมีไข้เกิน 38.5 องศาเซลเซียส มีอาการจากโรคติดเชื้อเฉียบพลัน หรือโรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ เช่น โรคเอดส์ โรคงูสวัด อีสุกอีใส วัณโรค เป็นต้น หากป่วยเป็นโรคเหล่านี้ไม่ควรไปนวดแผนไทย เพราะ ยิ่งจะทำให้อาการป่วยนั้น หนักขึ้นกว่าเดิม รักษาหายได้ช้าไปอีก
รวมถึงผู้ที่เพิ่งผ่าตัดมา แล้วแผลยังปิดไม่สนิท ก็ห้ามนวด เพราะการนวดอาจทำให้แผลปริแตก และอาจทำให้แผลมีอาการอักเสบมากกว่าเดิม
4. ผู้ป่วยโรคประจำตัวร้ายแรง
สำหรับใครที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดดำอักเสบ ผู้ป่วยโรคเหล่านี้ไม่สามารถไปนวดแผนไทยได้
เช่น ถ้าป่วยเป็นโรคความดัน บางคนไปนวดแล้วความดันพุ่งขึ้นสูงมาก จนเส้นเลือดในสมองแตกได้ดังนั้นการนวดแผนไทยตามมาตรฐาน จะต้องมีการซักประวัติ และสอบถามเรื่องโรคประจำตัวคนที่จะมานวดก่อนเสมอ
5. ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด
สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ในระยะลุกลาม ห้ามนวดแผนไทย เพราะอาจจะเป็นกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งลุกลามได้รวดเร็ว รวมทั้งอาจมีการแพร่กระจายเข้าสู่เส้นเลือดและน้ำเหลือง อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
6. ผู้ป่วยกระดูกพรุน
สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง มีสภาวะข้อต่อหลวม มีแนวโน้มว่ากระดูกเปราะง่าย หักง่าย ห้ามไปนวดแผนไทยเช่นกัน เคยเกิดกรณีศึกษามาแล้วว่า มีคนป่วยโรคกระดูกพรุนไปนวดแผนไทยแล้วทำให้ขาหักในขณะที่นวด ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยมากๆ
7. สตรีมีครรภ์ สตรีมีประจำเดือน
มีข้อมูลว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หลายคนอยากไปนวดให้หายเมื่อย แต่จริงๆ แล้ว คนท้องไม่ควรไปนวดแผนไทย โดยเฉพาะการนวดที่รุนแรงเกินไป หรือการนวดกดจุดสะท้อนในบริเวณต่างๆ ควรงดการนวดไทย เพราะอาจมีการกระทบกระเทือนต่อการตั้งครรภ์ได้ ถ้ารุนแรงมากก็อาจจะแท้งได้
ส่วนสตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ก็ไม่ควรไปนวดไทยเช่นกัน เพราะ อาจทำให้มีเลือดออกมาผิดปกติ เกิดความแปรปรวนเลือดลมภายใน หรืออาจทำให้เป็นโรคไข้ทับระดูได้
...
8. ผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดไม่แข็งตัว
ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด หรือ โรคฮีโมฟีเลีย ห้ามไปนวดแผนไทย เพราะการนวดจะเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต อาจทำให้มีอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง รวมทั้งเกิดเลือดออกในอวัยวะต่างๆ และกล้ามเนื้อ ถ้าหากเลือดออกมาก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการช็อก และเสียชีวิตได้
9. ผู้ที่มีปัญหากระดูกสันหลัง
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไม่ควรไปนวดแผนไทย เพราะถ้านวดผิดจุดขึ้นมา อาจจะทำให้กระดูกสันหลังมีการเคลื่อนตัว หรือยุบตัวลงไป ทำให้เกิดความเจ็บปวดและอันตรายที่รุนแรงขึ้น หากต้องการนวด แนะนำให้ไปพบแพทย์แผนไทยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ เท่านั้น
ที่มา : นพ.วิทวัส ศิริประชัย, honestdocs, info กรมแพทย์แผนไทย
...