“สุนทรภู่” ได้แต่ง “นิราศเมืองแกลง” เมื่อปี 2349 เป็นนิราศเรื่องแรกของนักวรรณกรรมอมตะ ที่ยูเนสโกประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญระดับโลกเวลาต่อมา นิราศดังกล่าวเป็นกลอนสุภาพบันทึกการเดินทางโดยทางเรือ จากเมืองกรุงมุ่งสู่ “บ้านกร่ำ” อ.แกลง จ.ระยอง

เพื่อเยี่ยมพ่อซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่นั่น...กลอนบางบทเขียนเอาไว้

“ถึงหย่อมย่านบ้านกร่ำพอค่ำพลบ ประสบพบเผ่าพงศ์พวกวงศา
ขึ้นกระฏีที่สถิตพระบิดา กลืนน้ำตาก็ไม่ฟังเฝ้าพรั่งพราย
ศิโรราบกราบเท้าให้เปล่าจิต รำคาญคิดอาลัยมิใคร่หาย
ชะรอยกรรมทำสัตว์ให้พรัดพราย จึงแยกย้ายบิตุราชญาติกา”

ร้าน “ต้นกระบก” ทีเด็ด...อาหารพื้นบ้านตะวันออก
ร้าน “ต้นกระบก” ทีเด็ด...อาหารพื้นบ้านตะวันออก

“คุณชาย 1” มีโอกาสไปเจอกับ “ครูอ้อ” อนงค์รัตน์ สัตย์อุดม ครูสอนศิลปะโรงเรียนชุมชนวัดกลางกร่ำ บอกว่า ถ้ามาถึงบ้านกร่ำร้านอาหารที่เหมาะกับคนมาเที่ยวต้องฟันธง “ร้านต้นกระบก” ซึ่งแปลกทั้งชื่อร้านและเด่นทั้งรสชาติอาหารพื้นบ้านตะวันออก...ทำให้ต้องด่วนตัดสินใจตรงไปร้านนี้ทันที

...

ร้านนี้อยู่ใกล้อนุสาวรีย์สุนทรภู่ไปตามถนนหมายเลข 3145 ร่วม 2 กิโลเมตร ถึงทางแยก 2 แพร่ง โดยแพร่งที่ 1 ตรงไปหาดแม่พิมพ์ แพร่งที่ 2 เลี้ยวซ้าย “อ่าวไข่” ไป 50 เมตรก็จะจ๊ะเอ๋ร้านอยู่ด้านขวามือ เป็นลักษณะเรือนชั้นเดียวล้อมด้วยพรรณไม้เต็มไปหมด

โดยมี “ต้นกระบก” ไม้มงคลขนาด 2 คนโอบคลุมหลังคาร้าน

วันที่ไปถึง...อาจโชคร้ายไม่มีใครแนะนำอาหารให้เพราะคนที่รู้ไม่อยู่ร้าน แต่บ่เป็นหยังดอก ...อาศัยประสบการณ์ดูเมนูแล้วชิมก่อนหลังจ่ายจบ ไม่ให้เกิดข้อครหาใครไม่รู้มารีวิวจบแล้วไม่ยอมจ่ายตามสไตล์นักรีวิวจอมปลอม...คุณชายระวังตัวนักกับเรื่อง “สึงตึง” พรรค์นี้

ด้วยคิดอยู่เสมอ...เราคือไกด์คนกลางแนะนำร้านอาหารน่าเชื่อถือ ส่วนคนอ่านคือ “ผู้บริโภค” ที่สร้างรายได้ให้กับร้านอาหารในฐานะคนลงทุน...ไม่มีผลประโยชน์ใดๆกับไกด์คนนี้

ว่าแล้ว...หยิบเมนูอาหารขนาดความหนาเท่านิยายโกวเล้งมาอ่าน เฮ้อ! มันอยากชิมไปหมด แต่ไม่ทันออกปากสั่งเกิดเสียงปริศนาดังขึ้นก่อน...“ปัง!” ทำเอาอกสั่นขวัญหายไปชั่วขณะ นึกว่าวัยรุ่น 2 กลุ่มยกพวกยิงกันที่นี่ หันรีหันขวางอยู่พักหนึ่ง...จึงรู้ว่าลูกกระบกทิ้งขั้วหล่นใส่หลังคาร้านลูกที่หนึ่ง สอง สาม ตามมาเป็นระยะๆ

...“ขวัญเอยขวัญมา” ได้แต่ปลอบใจตัวเอง

หมดนาทีระทึกทำให้ได้เมนูอาหารเข้ากับเหตุการณ์พอดี นั่นคือ “แกงหมูกระทือ” ซึ่งปกเป็นแกงป่าเนื้อหมูตำรับพื้นบ้านขนานแท้ หน้าตาดูเข้มข้นด้วยน้ำแกงขลุกขลิกหอมกลิ่นโชยมากับควันโขมงกระเส็นกระสาย...สารพัดผักสมุนไพรไทยใช้แทนยาได้หลายขนาน มีมะเขือเปราะภาษิตบอกกะเทาะหน้าแว่น

ที่ขาดไม่ได้คือมะเขือพวง พริกชี้ฟ้าผ่าซีก ใบมะกรูดเพิ่มความหอมรสชาติให้เนื้อหมูที่ฝานมาพอดีคำกลมกล่อม...เหมาะเป็นยาระบายได้ตามตำรา

“แกงหมูกระทือร้านนี้จะแปลกกว่าที่อื่น” ครูอ้อ ว่า “ตรงเขาใช้สูตรท้องถิ่นโบราณชาวบ้านกร่ำ คือต้องมีหัวหรือเหง้ากระทือฝานซอยเป็นชิ้นๆคล้ายข่าหรือเร่ว ใส่ช่วยเพิ่มความหอม แล้วยังให้สรรพคุณแทนยาบำรุงขับน้ำย่อย คนเฒ่าคนแก่เชื่อว่าลดอาการแน่นหน้าอกกับแก้เสมหะเป็นพิษ”

“คุณชาย 1” ฟังสลับชิมแล้วอดไม่ได้ที่จะร้อง โอ้โห! แทนคำตอบว่ามันช่างเป็นเมนูแกงป่าน้ำขลุกขลิก ที่เคมีตรงกันกับรสนิยมคนชอบแกงที่ไม่จำเป็นต้องมีกะทิปนเหมือนกับข้าวชนิดอื่นๆ ยิ่งได้ข้าวสวยประเภทหอมมะลิร้อนๆกินคู่ด้วยแล้ว...บอกได้เลยว่า “เด็ดสะระตี่” จริงๆ

...

พลันเสียงระฆังดัง “แก๊ง” เป็นสัญญาณยกที่สองกำลังจะเริ่ม คราวนี้เป็นการต่อกรกับอาหารพื้นบ้านตะวันออกที่หากินได้ทั้งชลบุรี ระยอง จันทบุรี ยันตราด ได้แก่ “แกงไก่กะลา” หรือแกงป่าไก่กะลา ที่ใช้เครื่องปรุงครกเดียวกับ “แกงหมูกระทือ” และผักเครื่องปรุงชนิดเดียวกัน...

จะต่างกันก็ตรงมีกะลามะพร้าวอ่อนซิงๆ ที่เขาจะเลือกเอาเฉพาะมะพร้าวเพิ่งติดผลโตสักระยะ และยังไม่ทันมีเนื้อส่วนที่เป็นกะลาจึงอ่อนนิ่ม สามารถหั่นเป็นชิ้นๆใส่ปนสุกไปกับแกง เมนูนี้...ของอร่อยอยู่ที่ไก่ ซึ่งถ้าเป็นไก่บ้านเคี้ยวแล้วเหนียวหนึบหนับ กินไปพร้อมกับชิ้นเนื้อกะลาที่กรอบนุ่มและฉ่ำน้ำอมเครื่องแกง...แม่คุณเอ๊ย! ไม่ผิดที่จะพูดว่า “เอาได้ฮิ!”

อาหารจานเด็ด 2 เมนูนี้ ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า น่าจะได้ไข่เจียวแก้เผ็ดร้อนหรือไม่ก็ต้มยางมะตูมตามวัฒนธรรมการกินคนภาคนี้ โดยเฉพาะผักสดเครื่องเคียงนอกจากผักริมรั้ว เป็นผักริมสวนอย่างสะตอเม็ดเล็กกว่าสะตอใต้ แล้วก็ “หัวชะเนียง” ที่คล้าย “ลูกเนียง” ปักษ์ใต้บ้านเรา

...

อีกอย่างเป็น “ลูกหย่อง” ลูกผสมเนื้อเขียวเช่นสะตอแต่กรอบแบบหัวชะเนียง หาได้แถว อ.ขลุง จ.จันทบุรี เด็ดขาดเหลือเกิน...ถ้าได้กินกับแกงป่าท้องถิ่นแถบนี้

เมนูสุดปังยังมีให้เลือกอีกเป็นร้อยเป็นสิบอย่างชุดน้ำพริกใช้กะปิบ้านกร่ำกินคู่กับผักสดผักต้ม แล้วยังมี “ปลาอินทรีผัดกะเพรา” เผ็ดไม่ถึงกับจี๊ด หรือ “แกงเนื้อสลัดได” ใส่สมุนไพรที่มีแทบทุกภาค

นอกจากนี้ ยังมี “หมูชะมวง” อาหารที่ยังถกเถียงกันไม่จบระหว่างคนเมืองยองกับเมืองจันท์ว่า ใครเป็นเจ้าของตำรับ

หรือจะเป็นเมนู “ยำสมุนไพร” กับ “เห็ดโคนกระเทียม” ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการเป็นเลิศ...ราคาค่าอาหารมีตั้งแต่จานละ 50-60-150 แพงสุดก็ 250 บาท

ร้าน “ต้นกระบก”เปิด 08.00–18.00 น.ทุกวัน โทร.สอบถามได้ที่เบอร์ 08–9163–5174, 09–5095–0621...ใครไปเที่ยวแม่พิมพ์ก่อนไปอ่าวไข่ต้องห้ามพลาดเด็ดขาดนะครับ.

...

คุณชาย 1