เมนูขึ้นสำรับวันนี้ รับรองได้เลยว่า ในเมืองไทยหาทานที่ไหนไม่ได้ และก็คงไม่มีใครรู้จักหรือเคยเห็นมาก่อนด้วย ทั้งๆที่เป็นของหวาน แต่ตามภัตตาคารเลื่องชื่อเกือบทุกแห่งในจีนเสิร์ฟเป็นเมนูเรียกน้ำย่อย โดยมีชื่อเรียกว่า “กุ่ยฮัว ถังโอ่ว” ซึ่งคำว่ากุ่ยฮัว ในภาษาจีนหมายถึงดอกพิกุล ส่วนถังโอ่ว ก็คือรากบัว เมนูนี้มีส่วนผสมหลักเพียง 3 อย่าง ได้แก่ รากบัว ดอกพิกุล และข้าวเหนียว
คุณเต๋อจี๋ ตัววา สาวจีนหน้าตาสวยสะ พูดไทยปร๋อแถมสำเนียงไม่เพี้ยนอีกต่างหาก ได้แนะนำสูตรและวิธีทำรากบัวยัดไส้ข้าวเหนียวให้คนไทยได้รู้จักกัน และก็คงไม่ต้องถามว่าทำไมถึงพูดไทยได้เก่งขนาดนี้ ทั้งๆที่ไม่ได้เข้าคอร์สเรียน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเธอมีครูดีอยู่ข้างกาย เนื่องจากเธอเป็นลูกสะใภ้เจ้าของยาสีฟันดอกบัวคู่ และช่วยบริหารงานบริษัท TwinLotus China ของครอบครัวสามี (คุณป่อป้อ-กำธน ลีเลิศพันธ์) คุณเต๋อจี๋จึงพยายามหัดพูดภาษาไทย ถึงจะเขียนอ่านไม่ได้ เพราะเธอบอกว่าภาษาไทยยากมาก แต่ก็พยายามเรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะเรื่องกิริยามารยาทแบบไทย และยังมีชื่อไทยด้วยว่า “ธนธร ลีเลิศพันธ์”
...
คุณเต๋อจี๋ เป็นชาวจีนมณฑลซิงไห่ (ติดกับทิเบต) คุณพ่อเป็นผู้อำนวยการและผู้บริหารระบบการศึกษาของมณฑลซิงไห่ จึงให้ความสำคัญด้านการศึกษากับลูกๆทั้ง 4 เป็นอย่างมาก ทำให้เธอมีโอกาสเข้ามาเรียนในกรุงปักกิ่ง และได้พบรักกับสามี ก่อนแต่งงานก็เคยทำงานในตำแหน่ง Media Planner On Line ให้กับบริษัทต่างชาติในจีนมาก่อน ในหน้าที่ภรรยาเธอก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการครัวจากคุณแม่ ซึ่งมีฝีมือในการปรุงอาหาร ทำให้คุณเต๋อจี๋เป็นหญิงสาวที่เพียบพร้อมทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติ
สำหรับเมนูข้าวเหนียวรากบัว หรือรากบัวยัดไส้ข้าวเหนียว ส่วนผสมประกอบด้วย : รากบัว 1 หัว/ข้าวเหนียวพันธุ์เมล็ดสั้นป้อม 100 กรัม/น้ำตาลทรายแดง แบ่งเป็น 2 ส่วน สำหรับต้ม 50 กรัม และทำน้ำเชื่อมราด อีก 100 กรัม/น้ำตาลกรวด แบ่งเป็น 2 ส่วนเช่นกัน สำหรับต้ม 150 กรัมและสำหรับทำน้ำเชื่อมราด 250 กรัม/ดอกพิกุลอบแห้ง 1 ชต. (หาซื้อได้ที่เยาวราช).........
วิธีทำ 1) ซาวข้าวเหนียวให้สะอาดและแช่น้ำทิ้งไว้ราว 4 ชม. จึงนำขึ้นพักไว้ 2) ปอกเปลือกรากบัวออกแต่เพียงบางๆ 3) ตัดส่วนหัวของรากบัวออกความยาวประมาณ 1 นิ้ว สำหรับนำมาทำเป็นฝาปิด 4) กรอกข้าวเหนียวใส่ลงตามรูๆของรากบัว รวมทั้งส่วนที่ตัดออก วิธีกรอกข้าวเหนียวต้องคอยเคาะให้ข้าวเหนียวลงไปตามช่องจนแน่นเต็มทั้งราก 5) นำรากบัวท่อนที่ตัดออก มาประกบปิดกับรากบัวท่อนใหญ่ เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวหลุดออก และยึดทั้งสองท่อนให้ติดกันด้วยไม้จิ้มฟันอย่างแน่นหนา โดยรอบรากบัว 6) นำรากบัวลงต้มด้วยไฟแรง โดยให้น้ำท่วมรากบัว พอน้ำเดือดใส่น้ำตาลทั้งสองชนิดที่เตรียมไว้ คนน้ำตาลให้ละลายและปิดฝาเคี่ยวต่อด้วยไฟอ่อนราว 2 ชม. จึงเปิดฝาหม้อพลิกรากบัวกลับด้าน เพื่อให้สีของน้ำตาลซึมเข้าไปในเนื้อรากบัวอย่างทั่วถึงกัน และคอยดูระดับน้ำในหม้อต้มอย่าให้แห้ง เคี่ยวต่อจนกว่ารากบัวจะสุก เนื้อใส สีสวยออกชมพูแดง ทดสอบว่าสุกได้ที่ยัง โดยใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มลงไปในรากบัว หากดึงขึ้นมาโดยไม่มีอะไรติดไม้จิ้มฟัน แปลว่าสุกดีแล้ว (หากใช้หม้อความดันสูงจะช่วยร่นระยะเวลาในการทำได้มากทีเดียว)
...
7) นำขึ้นจากหม้อแล้วพักให้คลายร้อน จึงนำเข้าตู้เย็นแช่ทิ้งไว้ราว 30 นาที 8) ระหว่างนี้ก็ไปเตรียมเคี่ยวน้ำตาลสำหรับใช้ราด โดยต้มน้ำเปล่าประมาณ 2 ถต. กับน้ำตาล 2 ชนิดที่เหลือ เคี่ยวไฟอ่อนจนเหนียวขึ้นเล็กน้อย 9) นำรากบัวออกจากตู้เย็น หั่นเป็นแว่นๆ แล้วราดน้ำเชื่อม และโรยดอกพิกุลแห้งปิดท้าย.