บัวลอย ขนมหวานไทยๆที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมของไทยมาช้านาน นิยมทำเลี้ยงในงานบุญ งานมงคล และงานเทศกาลต่างๆของไทย การทำบัวลอยนั้นมีความพิถีพิถันแบบไทยๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่หวานมัน กลิ่นหอม รูปลักษณ์และสีสันที่สวยงาม สมัยก่อนจะใช้สีที่มาจากธรรมชาติ เช่น สีเหลืองจากฟักทอง สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากอัญชัน ผสมลงในแป้งที่ใช้ทำบัวลอย ทว่าปัจจุบันพ่อค้า แม่ค้านิยมใช้สีผสมอาหารเพื่อให้บัวลอยนั้นมีสีสวยงาม สม่ำเสมอ สีสดใส ไม่ซีด ดูน่าทานแม้จะผ่านการต้มในน้ำร้อน แม้ตามกฎหมายของไทยจะอนุญาตให้ใช้สีผสมอาหารได้ตามชนิดและปริมาณที่กำหนด
แต่อย่าลืมว่าสีผสมอาหารนั้นเป็นสีสังเคราะห์ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายปริมาณมากๆก็อาจเกิดการสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดอาการ เช่น ผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน ท้องเดิน มีอาการชา เพลีย อ่อนแรง
และสีอาจจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ร่างกายหลั่งน้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก ส่งผลให้อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหารได้
สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างขนมบัวลอย 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ที่มีขายตามท้องตลาดในเขตกรุงเทพฯ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี เพื่อนำมาวิเคราะห์สีผสมอาหาร 8 ชนิด ผลการวิเคราะห์พบว่ามีขนมบัวลอย 2 ตัวอย่าง พบสีตาร์ตราซีน (ให้สีเหลือง) ในปริมาณ 2.68 และ 5.48 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และพบสีซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ (ให้สีเหลืองส้ม) 1 ตัวอย่าง ในปริมาณ 1.33 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ซึ่งปริมาณที่พบยังน้อยกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ ให้เติมสีตาร์ตราซีน (สีเหลือง) และซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ (สีเหลืองส้ม) ในเม็ดปั้นแป้งบัวลอย (อาหารขนมหวานที่มีธัญชาติและสตาร์ชเป็นส่วนประกอบหลัก) ได้ในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันนี้ทานขนมบัวลอยกันได้อย่างปลอดภัย.
...
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย
คลิกอ่านคอลัมน์ "มันมากับอาหาร" เพิ่มเติม