ปูนา วัตถุดิบตามท้องนาที่ชาวบ้านนำมาดองกับดอกเกลือหรือน้ำเกลือ ให้สามารถเก็บไว้ใช้ประกอบอาหารได้นานๆ อาหารที่นิยมนำปูนาดองเกลือมาเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ส้มตำ ยำมะม่วง น้ำพริกมันปูนา ซอสมันปูนา ปูนาสามรส ปูนานึ่งสมุนไพร ขนมจีนน้ำยามันปูนา หรือนำมาทำเป็นเครื่องปรุงพื้นบ้านของภาคเหนือ เช่น น้ำปูหรือน้ำปู๋ ที่นิยมปรุงในยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ ส้มตำ และตำส้มโอ เพื่อทำให้มีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้น

พาราควอตเป็นสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชและวัชพืช ในอดีตก่อนที่กฎหมายจะห้ามใช้พาราควอตนั้น เกษตรกรมักนิยมใช้เพราะสามารถกำจัดศัตรูพืชและวัชพืชได้อย่างรวดเร็ว ทว่า พาราควอตมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี เมื่อเกษตรกรใช้ฉีดพ่นในแปลงนา หรือแปลงเพาะปลูกพืช จะทำให้เกิดการตกค้าง และสะสมพาราควอตในดิน ในพื้นที่ที่ใช้เป็นบริเวณกว้างได้ ที่สำคัญ พาราควอตเป็นสารที่มีการสลายตัวช้ามาก ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี พาราควอตที่อยู่ในดินจึงจะลดไปครึ่งหนึ่ง

ฉะนั้น ปูนาที่อาศัยอยู่ในนาข้าวตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยใช้พาราควอต หรือพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณที่ใช้พาราควอตมาก่อน ก็อาจทำให้มีพาราควอตปนเปื้อนอยู่ในตัวปูนาได้ เมื่อเราทานปูนาที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดอันตรายแบบเฉียบพลัน คือเกิดอาการแสบร้อน เกิดแผลในหลอดลม ระบบทางเดินอาหาร หรือแบบเรื้อรัง หากได้รับเป็นเวลานานคือก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม และเป็นสารก่อมะเร็ง ตามกฎหมายไทยจึงห้ามใช้พาราควอตในการทำการเกษตร และไม่อนุญาตให้พบตกค้างในอาหาร

สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างปูนาดองเกลือจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้าน ในเขตกรุงเทพฯและ จ.ปทุมธานี เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณสารพาราควอต ผลการวิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่างไม่พบพาราควอตปนเปื้อนเลย วันนี้ผู้บริโภคทานปูนาดองเกลือกันได้อย่างสบายใจ.

...

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” เพิ่มเติม