ชาบู หมูกะทะ สุกี้ ปิ้งย่างแบบบุฟเฟต์ เป็นอาหารยอดฮิตที่คนไทยนิยมทานกันเป็นหมู่คณะ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ที่ต้องมีคู่กับการทานชาบู หมูกะทะ สุกี้ คือ น้ำจิ้มสุกี้ ตัวช่วยเพิ่มรสชาติและความอร่อย ส่วนผสมหลักของน้ำจิ้มสุกี้คือ ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำส้มสายชู น้ำมันงา เกลือ น้ำตาล พริก กระเทียม งาขาว นอกจากจะมีให้ทานตามร้านแล้ว ปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดออกมาวางขายหลากหลายยี่ห้อ หลายสูตร หาซื้อกันได้ง่ายและสะดวกไม่ต้องปรุงเองที่บ้านให้เสียเวลา
แม้น้ำจิ้มสุกี้สำเร็จรูปจะสะดวกและอร่อย แต่สิ่งหนึ่งที่จะขอเตือนให้ระวัง คือ โซเดียม โซเดียม เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย เราจะได้รับจากการทานอาหารเป็นหลัก ประโยชน์ของโซเดียม คือ ช่วยรักษาสมดุลของแรงดันของเหลวในร่างกาย ควบคุมความเป็นกรดด่าง ควบคุมการทำงานของหัวใจ ช่วยในการส่งสัญญาณประสาทเพื่อความคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แต่หากร่างกายได้รับปริมาณมากหรือเกินความต้องการก็อาจเป็นโทษได้โดยเฉพาะกับไต ปกติไตทำหน้าที่ปรับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล หากโซเดียมในร่างกายมากเกินไป
ไตจะทำงานหนักขึ้น ผลที่ตามมาคือเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น เกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเสื่อม หรือโรคไตได้ ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจด้วย สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เกตและท้องตลาดเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลเพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียม ผลวิเคราะห์พบว่าน้ำจิ้มสุกี้ทั้ง 5 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในช่วง 1,030.92-1,881.10 มิลลิกรัม ต่อน้ำจิ้ม 100 กรัม
องค์การอนามัยโลก แนะนำปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวันต้องไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม เห็นผลวิเคราะห์และคำแนะนำอย่างนี้แล้ว เทศกาลปีใหม่ไทยนี้ใครที่จะเฉลิมฉลองด้วยเมนูชาบู หมูกระทะ สุกี้ ปิ้งย่างเกาหลีที่ทานคู่น้ำจิ้มต่างๆ ขอให้ระวังโซเดียมกันสักนิดลำพังน้ำจิ้มสุกี้อย่างเดียว 100 กรัม ก็มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 1,000 มิลลิกรัมแล้ว
...
อย่าลืมว่าในอาหารอื่นที่เราทานแต่ละวันนั้น อาจมีโซเดียมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย ลดเค็ม ลดโรค ลดจิ้ม ลดโรค เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย
คลิกอ่านคอลัมน์ "มันมากับอาหาร" เพิ่มเติม