คะน้า ผักตระกูลกะหล่ำที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย หาซื้อได้ง่าย มีขายทั่วไปตลอดทั้งปี คะน้ามีเนื้อสัมผัสกรอบอร่อย ไม่มีรสขม ใบสดมีความมัน แถมยังมีวิตามิน เกลือแร่หลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินซี แคลเซียม ฯลฯ คนไทยนำคะน้ามาประกอบอาหารหลากหลายเมนูทั้งคะน้าหมูกรอบ ยำคะน้ากุ้งสด ผัดซีอิ๊ว ราดหน้า ข้าวผัดคะน้าปลาเค็ม ยำก้านคะน้า และใช้ทานเป็นผักเคียงของเมนูต่างๆ เช่น หมูมะนาว ก๋วยเตี๋ยวไก่ ฯลฯ
แม้คะน้าจะมีประโยชน์มากมาย แต่หากเรานำคะน้าที่มีการปนเปื้อน เช่น ปนเปื้อนโลหะหนักตะกั่วมาใช้ประกอบอาหารและทานเข้าสู่ร่างกาย ก็อาจทำให้เกิดอันตรายจากตะกั่วปนเปื้อนในคะน้าได้ จากพื้นที่ปลูกหรือแหล่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกอยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรมที่มีตะกั่วปนเปื้อน หรือเป็นแหล่งที่มีการสะสมของตะกั่วในน้ำ อากาศ ดิน หรือมีการใช้วัสดุ ปุ๋ยที่มีตะกั่วปนเปื้อนในการเพาะปลูก ซึ่งคะน้าสามารถดูดซึมตะกั่วจากดิน น้ำ ปุ๋ยเข้าไปสะสมในต้นและใบได้ เมื่อเราได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกายปริมาณไม่มาก ปกติร่างกายสามารถขับตะกั่วออกได้ทางไต เหงื่อ น้ำดีและเล็บ แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไป ร่างกายจะขับออกไม่ทัน อาจก่อให้เกิดภาวะตะกั่วเป็นพิษ ทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก
หากตะกั่วสะสมในร่างกายจะทำให้เกิดโรค อาการต่างๆ เช่น โลหิตจาง ทำลายระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้เกิดอัมพาต ไตอักเสบ และส่งผลให้เป็นหมันได้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้พบปริมาณตะกั่วปนเปื้อนในผักใบ ผักใบตระกูลกะหล่ำซึ่งรวมถึงคะน้าสูงสุดได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
...
สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างผักคะน้าสดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในตลาดในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณตะกั่วปนเปื้อน ผล วิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่าง ไม่พบตะกั่วปนเปื้อนเลย เห็นผลอย่างนี้แล้วผู้ บริโภคที่ชอบผักคะน้าอุ่นใจกันได้ ที่วันนี้ทานคะน้าที่ทั้งปลอดภัยและได้ประโยชน์
การทานผักนั้นดีอยู่แล้ว แต่หากทานอาหารที่หลากหลายและออกกำลังกายเป็นประจำร่วมด้วยสุขภาพแข็งแรงและห่างไกลจากโรคแน่นอน.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย