ปลาทูน่า ปลาทะเลที่อุดมไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีน โอเมก้า 3 แร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ไอโอดีน วิตามินบี คนไทยนิยมนำปลาทูน่าชนิดครีบเหลือง ครีบยาว ปลาทูน่าตาโตมาทำเป็นเมนูซาชิมิหรือซูชิ ส่วนปลาทูน่าสคิปแจ็กนิยมนำมาแปรรูปเป็นทูน่ากระป๋องแช่ในน้ำแร่ น้ำเกลือ หรือน้ำมันพืช ที่คนไทยนิยมใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร เช่น สลัดปลาทูน่า ยำปลาทูน่า น้ำพริกปลาทูน่า แซนด์วิชปลาทูน่า พล่าปลาทูน่า กะเพราปลาทูน่า ทาโก้ปลาทูน่า
แม้ปลาทูน่าจะเป็นอาหารที่ทั้งอร่อยและมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ทว่าก็อาจมีอันตรายแอบแฝงอยู่ด้วย เช่น โลหะหนัก โดยเฉพาะปรอทที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการควบคุม ไม่ดีก็อาจปนเปื้อนและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมและปนเปื้อนต่อไปยังสัตว์หรือพืชในห่วงโซ่อาหาร
รวมถึงปลาทูน่าที่อาศัยในทะเลได้ หากเราได้รับสารปรอทและเกิดการสะสมในร่างกายจะทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ เช่น ปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด ตัวบวม ไตทำงานผิดปกติกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ภาวะผิวซีด และระบบหายใจอาจล้มเหลวได้
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 414 พ.ศ.2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนกำหนดให้ปลาทูน่า (วัตถุดิบ) พบปรอทปนเปื้อนสูงสุดได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 พ.ศ.2556 เรื่อง อาหารในภาชนะที่ปิดสนิทกำหนดให้อาหารทะเลในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะพบปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณปรอทปนเปื้อน ผลวิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่าง มีปรอทอยู่ในช่วง 0.031-0.381 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณที่พบน้อยกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด วันนี้ผู้บริโภคคนไทยทานปลาทูน่ากระป๋องได้อย่างปลอดภัย ขอแนะเพิ่มเติมว่าควรทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายปลอดภัยจากสารอันตรายและแข็งแรง.
...
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” เพิ่มเติม