คิมบับ อาหารสัญชาติเกาหลีที่เป็นที่นิยมของคนไทย จากผลพวงของกระแสวัฒนธรรมเกาหลีที่ส่งผ่านมาทางซีรีส์ เคป๊อบ และรายการอาหารต่างๆ ด้วยความที่กรรมวิธีการทำคิมบับต้องใช้มือหยิบจับและสัมผัสกับวัตถุดิบทั้งข้าวสุก ไส้ เช่น แฮม หมูสามชั้น ปูอัดที่ผัดกับซอสบุลโกกิ ไข่เจียวซอย ผักลวกซอย เช่น แครอท ผักโขม ฟังทอง หัวไชเท้าดอง แตงกวาดอง เพื่อนำมาห่อด้วยสาหร่ายแผ่น และหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำ ซึ่งหากมือของผู้ปรุง หรือพ่อครัวแม่ครัว ไม่ล้างให้สะอาด ไม่มีการรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดีเพียงพอ ก็อาจทำให้มีเชื้อก่อโรค เช่น สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส ปนเปื้อนในคิมบับได้ เชื้อชนิดนี้พบได้ในสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ พบในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ หมู ไก่ ไข่ นม ขนมอบ แซนด์วิช เอแคลร์ที่เก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม และเก็บไว้เป็นเวลานานก่อนทาน และพบได้ในจมูกและผิวหนังคน ทำให้ในระหว่างทำคิมบับ มีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนจากมือพ่อครัวแม่ครัวลงสู่คิมบับได้
...
เชื้อชนิดนี้สามารถสร้างสารพิษได้ เมื่อปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เมื่อเราทานอาหารที่มีเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส ปนเปื้อน จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน เป็นตะคริวในช่องท้อง อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย บางราย อาจมีอาการปวดศีรษะ เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ อาจมีการเต้นของชีพจรผิดปกติ ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับสภาพการต้านของร่างกาย ปริมาณเชื้อที่ปนเปื้อนและปริมาณสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นในอาหาร สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างคิมบับจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส ปนเปื้อน ผลวิเคราะห์พบว่า มี 1 ตัวอย่างที่พบเชื้อปนเปื้อนและปริมาณที่พบอยู่ในระดับที่เกินกว่ามาตรฐานกำหนด
ซึ่งตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหารฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนดให้พบเชื้อ สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส ในอาหารพร้อมบริโภคทั่วไป ได้น้อยกว่า 100 CFU/ กรัม เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้วเลือกซื้อคิมบับจากร้านที่มั่นใจได้ในเรื่องความสะอาดและร้านที่ถูกสุขลักษณะจะดีกว่า และควรเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ แช่เย็นหากทานไม่หมดในครั้งเดียว เพื่อลดความเสี่ยงของอันตรายที่จะเกิดต่อร่างกายเรา.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย
คลิกอ่านคอลัมน์ "มันมากับอาหาร" เพิ่มเติม