คนสมัยก่อนรู้จักเลือกพันธุ์พืชในท้องถิ่นมากินเป็นอาหารและทำเป็นยา “ผักหนาม” ก็เป็นพืชล้มลุกยอดนิยมที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทย คนท้องถิ่นนำมาลวกกินกับน้ำพริก ต้มใส่แกง หรือใช้ส่วนประกอบของผักหนามมาทำเป็นยารักษาโรคในตำรับยาไทย มาดูกันว่า ผักหนามมีประโยชน์และสรรพคุณทางสมุนไพรอย่างไรบ้าง
รู้จัก “ผักหนาม” ผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์หลากหลาย
ผักหนามมักปลูกไว้เพื่อเป็นอาหารมากกว่าเป็นไม้ประดับ ยอดอ่อนนำไปลวกกินแกล้มกับน้ำพริกก็อร่อย เนื่องจากใต้ใบและก้านดอกมีติ่งยื่นออกมาคล้ายหนาม จึงถูกเรียกว่าผักหนาม
ผักหนามมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lasia spinosa (L.) Thw. พบได้ในธรรมชาติ เขตชุ่มน้ำ เป็นไม้ล้มลุก แทงเหง้าออกมาจากใต้ดิน ลักษณะของใบเป็นใบเดี่ยว สีเข้ม มีหลายขนาด ต้นหนึ่งจะมีใบ 1-3 ใบ ยาวได้ถึง 1 เมตร วิธีการขยายพันธุ์ผักหนามมักแยกเหง้าที่ติดตา ไปลงกระถาง หรือแปลงปลูก และสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดได้ด้วย
ดอกของผักหนามจะออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม ดอกมีขนาดยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ช่อเป็นดอก ก้านดอกยาว กาบหุ้มช่อดอกมีสีม่วงแดง หรือสีน้ำตาลม่วง มีดอกย่อยรวมกันเป็นแท่งรูปทรงกระบอกสีชมพูม่วง ผลที่ได้รับการผสมแล้วจะกลม ผิวขรุขระ เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล
...
ประโยชน์ของผักหนาม
ผักหนามมีประโยชน์ทางด้านโภชนาการและนำมาทำเป็นยา ดังนี้
1. ยอดอ่อนผักหนามนำมาลวกกินกับน้ำพริก ต้ม แกง
ยอดอ่อนของผักหนาม มักนำมาลวก กินกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหาร ใช้ทำเมนูแกงส้ม แกงไตปลา โดยต้องผ่านกระบวนการทำสุก เพื่อความปลอดภัย ยอดอ่อนของผักหนาม 100 กรัม มีคุณค่าทางอาหาร ดังนี้
- โปรตีน 2.20 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 2.54 กรัม
- ใยอาหาร 1.93 กรัม
- แคลเซียม 75.40 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 37.60 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 353.60 มิลลิกรัม
- อื่นๆ ได้แก่ วิตามินเอ และวิตามินอี
2. มีสรรพคุณตามตำรับยาสมุนไพรไทย แก้ไอ ขับเสมหะ
- ลำต้นของผักหนามนำมาแก้ไอ ขับเสมหะ ต้มอาบแก้คัน
- ใบผักหนาม แก้ปวดท้อง แก้ไอ
- รากผักหนาม ต้มให้เด็กแรกเกิดอาบ และแก้เจ็บคอ
- เหง้าผักหนาม เป็นยาขับปัสสาวะ ต้มอาบแก้คันจากพิษหัด และโรคผิวหนัง
3. ใช้ผสมอาหารไก่เพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว
ก้านแก่ และใบผักหนาม นำมาบดผสมกับอาหารเลี้ยงไก่ เพื่อเพิ่มน้ำหนักตัวไก่ มีงานวิจัยรองรับว่าการให้ผักหนามผสมในอาหารสัตว์มีต้นทุนไม่แตกต่างจากการใส่ยาปฏิชีวนะลงในอาหารไก่ แต่เมื่อใช้ส่วนที่เป็นลำต้นและราก พบว่าไก่มีน้ำหนักตัวมากขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้ยาปฏิชีวนะ
4. ปลูกผักหนามเป็นไม้ประดับ
ต้นผักหนามมีก้านใบ และช่อดอกที่สวยงาม นอกจากเลี้ยงไว้เด็ดกินริมรั้วแล้ว ยังมีสายพันธุ์ต้นผักหนามจากประเทศอื่นๆ ที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารได้ อาทิ ผักหนามจีน, ผักหนามญี่ปุ่น และผักหนามเกาหลี โดยมีความแตกต่างกันที่สีของใบ ขนาด และความสูง เมื่อปลูกไว้เป็นไม้เลื้อยคลุมดินแล้วให้ความสดชื่นสบายตา
ผักหนามมีรสชาติอย่างไร
รสชาติของผักหนาม ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เด็ดนำมาใช้รับประทาน แม้ว่าจะใช้กินได้ทั้ง ยอด ใบ ก้านใบ ดอก ลำต้น แต่ละส่วนก็มีรสชาติต่างกัน และไม่ควรกินดิบ ดอกของยอดและใบอ่อนจะมีรสจืด นิยมนำมาทำเป็นผักหนามดองให้มีรสเปรี้ยว ก้านใบอ่อนนำมาต้มกินกับน้ำพริก
ผักหนามกินดิบได้ไหม
ผักหนามกินดิบไม่ได้ เพราะส่วนประกอบของต้นผักหนาม มีสารที่เปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ได้ สารนี้เป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและกล้ามเนื้อ ทำให้อาเจียน และกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนกระทั่งชัก หมดสติ หากเผลอรับประทานผักหนามดิบเข้าไปแล้วมีอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้อง
สรุปแล้วผักหนามแม้ว่าจะเป็นผักพื้นบ้าน ใช้กินยอด กินใบ แต่ไม่ควรกินดิบ เนื่องจากมีสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบร่างกาย หากรับในปริมาณมากทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นขาดออกซิเจนได้
ที่มา :
1. ผักหนาม: พืชพื้นบ้านและพืชประดับ., ดร.ประทุมพร ยิ่งธงชัย., https://stri.cmu.ac.th/article_detail.php?id=71
2. ผักหนาม., ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี., https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=240
3. ผักหนาม., https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1724&code_db=610010&code_type=01