ถั่วเหลือง ผลผลิตทางการเกษตรที่สําคัญของไทย เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของทั้งคนและสัตว์อีกทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือมีกรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ มีสารสำคัญที่มีประโยชน์ เช่น ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน บำรุงหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ถั่วเหลืองแปรรูปเป็นอาหารคาวหวานได้หลายชนิด เช่น น้ำเต้าหู้ เทมเป้ เต้าหู้เหลือง ขนมถั่วกวน นมถั่วเหลือง รวมทั้งนำมาหมักทำซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว หรือสกัดเป็นน้ำมันสำหรับใช้ประกอบปรุงอาหาร ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบที่หาซื้อง่าย มีขายทั้งแบบเต็มเมล็ดและผ่าซีกตามท้องตลาดทั่วไป ราคาไม่แพง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่ปลูกกันมากในภาคเหนือ เกษตรกรอาจมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืชในระหว่างการเพาะปลูก ส่งผลให้สารเหล่านี้อาจตกค้างในถั่วเหลือง รวมถึงในดิน แหล่งน้ำที่ใช้เพาะปลูก หรือแพร่กระจายและตกค้างในพืชอื่นๆที่ปลูกบริเวณใกล้เคียงได้ ยิ่งถ้าเป็นสารชนิดที่ตกค้างในดินและแหล่งน้ำได้เป็นเวลานานๆ เช่น สารพาราควอต ที่เกษตรกรอาจไม่ได้ใช้กำจัดศัตรูพืชในระหว่างการเพาะปลูก เพราะเป็นสารที่ไทยไม่อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ปี 2563 แต่หากดินหรือแหล่งน้ำบริเวณนั้นๆ เคยมีการใช้พาราควอตมาก่อนหน้าก็อาจทำให้มีสารนี้ตกค้างอยู่ในดิน น้ำและพืชที่ปลูกบริเวณนั้นได้
สารพาราควอต ไทยประกาศยกเลิกการใช้ และจัดให้อยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก นำผ่านหรือมีไว้ในครอบครอง และกำหนดให้ห้ามพบพาราควอตในอาหารตั้งแต่ปี 2563 สารชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจากการบริโภคอาหารจะก่อให้เกิดอันตราย เช่น พิษเฉียบพลันทำให้เกิดแผลในปาก เจ็บคอ อาเจียน ปวดท้อง แสบร้อนในช่องอก หรือหากได้รับเป็นเวลานานๆจะก่อให้เกิดอาการทางระบบปัสสาวะ ไตวาย ตับอักเสบ หอบและเหนื่อยได้
...
สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองซีกและเต็มเมล็ดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้าในตลาดในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณสารพาราควอตตกค้าง ผลปรากฏว่าถั่วเหลืองทั้ง 5 ตัวอย่าง ไม่พบสารพาราควอตตกค้างเลย วันนี้คนไทยมั่นใจได้ว่าถั่วเหลืองในบ้านเราปลอดภัยจากพาราควอต.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย