น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลปึกผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ช่อดอกมะพร้าว ช่อดอกต้นตาล โดยนำมาให้ความร้อนหรือเคี่ยวจนงวดได้ที่ได้เป็นน้ำตาลปี๊บสีน้ำตาลอ่อนที่มีรสหวาน กลิ่นหอม สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายทั้งอาหารคาว เช่น พะโล้ น้ำยำ น้ำพริก น้ำจิ้มต่างๆ และขนมหวานของไทย เช่น บัวลอย ลอดช่องน้ำกะทิ กล้วยบวชชี ข้าวเหนียวทุเรียน ฯลฯ

ทว่าน้ำตาลมะพร้าวเมื่อเก็บไว้นานสีอาจคล้ำขึ้นจนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่น่าทานหรือเลือกซื้อไปปรุงอาหาร ผู้ผลิตบางรายจึงมีการเติมสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อฟอกสีของน้ำตาลปี๊บไม่ให้ดำคล้ำได้ง่าย และสามารถเก็บรักษาเพื่อขายได้เป็นเวลานาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 418 พ.ศ.2563 กำหนดให้ใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในน้ำตาลปี๊บได้แต่ต้องไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพราะหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ถ้าได้รับซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากการทานอาหารในปริมาณไม่มาก ร่างกายจะมีเอนไซม์ที่เปลี่ยนสารซัลไฟด์เป็นสารซัลเฟตซึ่งไม่มีพิษและถูกขับออกจากทางปัสสาวะ แต่หากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากๆ จะทําให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน ช็อก หมดสติ และผู้ที่แพ้มากหรือผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอาจเสียชีวิตได้

...

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างน้ำตาลปี๊บจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 3 ยี่ห้อ และ 2 ร้านค้าที่วางจำหน่ายในตลาดย่านต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผลปรากฏว่าพบน้ำตาลปี๊บ 3 ตัวอย่าง มีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง และพบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 ตัวอย่าง เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้วท่านที่ชอบความหวานขอให้เพลาๆกันลงบ้าง เพื่อความปลอดภัย.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย