ชื่อเมนู “ข้าวเหลืองเนื้อไก่” ก็คือ ข้าว (เหนียว)  เหลือง ทานกับแกงไก่ นั่นเอง เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวเชียงตุง ที่ยังคงอยู่ จนทุกวันนี้ โดยผู้สืบเชื้อสายจากเชียงตุงได้อนุรักษ์สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยความภาคภูมิใจในมรดกแห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่คิดทำขึ้น

คุณป่น–ครองพงศ์ ณ เชียงตุง หัวหน้ากลุ่มครีเอทีฟบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น “เดนสึ ” ประจำประเทศไทย  (DEN– TSU) สืบเชื้อสายจากเจ้าปู่-เจ้าพรหมลือ ณ เชียงตุง กับ เจ้าย่า-เจ้าทิพวรรณ (ณ ลำปาง) และได้รับการเลี้ยงดูมาแบบครอบครัวโบราณที่ปู่ย่าตายายยังเข้าครัวปรุงอาหารให้ลูกหลานรับประทาน จนซึมซับเข้าสายเลือดอย่างคุณป่น ขนาดไปเรียนอยู่เมืองนอก แม้แต่ข้าวแช่ยังทำทานเองเลย โดยแพ็กกะปิทอดฝีมือคุณยายไปจากเมืองไทย  แล้วไปทอดที่อเมริกา ส่วนเครื่องอื่นๆก็ทำเองที่โน่น และด้วยความที่มีฝีมือด้านการครัว คุณป่น ยังไปหาลำไพ่ด้วยการเป็นพ่อครัวร้านอาหารไทยที่เดนเวอร์ จนได้รับการ ทาบทามไปเป็นครูสอนทำอาหารไทยให้ฝรั่งที่โรงเรียนการครัวอีกด้วย
สำหรับข้าวเหลืองเนื้อไก่นี้ เป็นหนึ่งในอีกหลายสิบเมนู ที่คุณป่นยังเก็บรักษาสูตรเอาไว้และทำทานด้วยความชอบเป็นส่วนตัว  เพราะเขาเป็นคนที่ชอบศิลปะ และอาหารก็คือศิลปะอย่างหนึ่ง

...

เครื่องปรุง : เนื้อไก่ (ส่วนสะโพก) 1 กก./หัวหอมแดงสด 1 ถ้วย/ตะไคร้หั่นท่อน 1/2 ถ้วย/กระเทียม 1/4 ถ้วย/พริกแห้ง 1/4 ถ้วย/ซีอิ๊วดำหวาน 2 ชต./กะปิ 2 ชช./เกลือ 1/4 ชช./ข้าวเหนียว 3 ถ้วย/หัวหอมแดงเจียว 1 ถ้วย/ขมิ้นผง 1/2 ชช.

วิธีทำ 1) เริ่มนึ่งข้าวเหนียว โดยแช่น้ำทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วซาวน้ำออกก่อนค่อยใส่ผงขมิ้นลงผสม จึงค่อยนำไปนึ่ง เมื่อสุกจะออกเป็นสีเหลืองสวยคล้ายข้าวหมก จึงใส่หอมแดงเจียวแล้วคลุกให้เข้ากัน เพื่อให้มีกลิ่นหอม 2) นำพริกแห้ง กระเทียม หอมแดง และกะปิ มาตำรวมกันแบบหยาบๆ อย่าใช้เครื่องปั่นเพราะจะไม่ได้เนื้อของเครื่องแกงเหลืออยู่เลย 3) ผัดเครื่องแกงที่ตำกับเนื้อไก่ส่วนสะโพก โดยใช้ทั้งชิ้นที่ติดกระดูก แล้วค่อยๆเติมน้ำทีละนิดแค่ขลุกขลิก 4) เติมซีอิ๊วดำ เกลือ และตะไคร้ อาจจะทุบแล้วหั่นเป็นท่อนๆ หรือจะมัดรวมกันทั้งต้นก็ได้ ใส่ลงไปต้มด้วย และเคี่ยวไปจนเนื้อไก่สุกเปื่อย

ความอร่อยของเมนูนี้จะอยู่ที่หอมแดงและตะไคร้ ซึ่งนอกจากช่วยดับกลิ่นคาวของไก่แล้ว ยังให้กลิ่นหอมของสมุนไพรด้วย และรสชาติโดยรวมของเมนูนี้จะออกเค็มกับเผ็ด (นิดๆ) นำ แต่ถ้าใครไม่ทานเผ็ดก็อาจจะเอาเมล็ดพริกแห้งออกบ้าง.